“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” สำนวนไทยที่สื่อสารต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ให้เราได้รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ในที่นั้นๆ การเดินทางไปต่างประเทศก็เช่นกัน เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเขา เราก็ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างและพิเศษไปกว่าใคร บางอย่างก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย และหลายๆอย่างก็แตกต่างกันสิ้นเชิง การเข้าใจและปรับตัวระหว่างการไปเที่ยวให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น จะทำให้เราได้เข้าถึงคนญี่ปุ่นได้มากขึ้นและได้รับการต้อนรับอย่างเต็มใจ มีความสุขตลอดทริปไปเลย
ขอนำเสนอ เคล็ดลับ เที่ยวญี่ปุ่นยังไง ให้คนญี่ปุ่นชม? เอาใจแฟนญี่ปุ่นพันแท้ เตรียมรับการเปิดประเทศไปเลย
การกล่าวทักทายและขอบคุณ

Photo from https://www.fumira.jp/cut/kodomo/file606.htm
สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้และเป็นปัจจัยสำคัญของคนญี่ปุ่นนั่นคือ การกล่าวทักทายและการแสดงความขอบคุณ เด็กญี่ปุ่นได้ถูกสั่งสอนโดยพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบข้างให้รู้จักมีสัมมาคารวะและแสดงการทักทายอยู่เสมอเหมือนคนไทย แม้แต่กับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เวลาเราเดินตามท้องถนนและเจอเด็กนักเรียนประถมใส่หมวกสีเหลืองเดินทางกลับจากโรงเรียน จะได้ยินคำทักทาย “คอนนิจิวะ” “คมบังวะ” แปลว่า “สวัสดี” ในภาษาญี่ปุ่น ยิ่งถ้าไปตามชนบท คนแก่คนเฒ่าที่เดินไปมาสวนกัน ก็จะกล่าวทักทายกันอยู่เสมอ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เวลาเราซื้อของจากร้านค้าที่ไหนก็ตาม ก่อนที่ลูกค้าจะเดินออกจากร้านพนักงานจะก้มหัวและกล่าวคำขอบคุณ “อาริกาโตะโกไซมัส” อย่างสุภาพและจริงใจ หลายร้านก็จะส่งลูกค้าที่หน้าประตูร้านและก้มหัวขอบคุณ จนกว่าลูกค้าจะเดินลับสายตาไป
ในฐานะนักท่องเที่ยว เราไม่จำเป็นจะต้องกล่าวคำทักทายทุกคนที่เดินผ่าน แต่เวลาเราจะต้องขอความช่วยเหลือ หรือมีคำถามอะไรต่อพนักงาน อาจจะเป็นที่โรงแรม ร้านขายของ หรือร้านอาหารที่เราเข้าไปใช้บริการ ลองพูดทักทาย “โอฮาโยโกไซมัส” (สวัสดีตอนเช้า) “คอนนิจิวะ” (สวัสดีตอนกลางวัน) “คมบังวะ” (สวัสดีตอนเย็น) ก่อนที่จะพูดถึงเนื้อหาที่ต้องการจะทราบหรือถาม และเมื่อเราได้รับความช่วยเหลือเสร็จแล้ว เอาอย่าลืมกล่าวคำว่า “อาริกาโตะโกไซมัส” เพื่อเป็นการขอบคุณอย่างจริงใจ
แนะนำ เวลาไปเที่ยวเขตชนบทนอกเมือง ถ้าเดินผ่านคนเฒ่าคนแก่ กล่าวทักทายหรือโค้งหัวเคารพและยิ้มให้ก็จะเป็นมารยาทที่ดีมาก และคนญี่ปุ่นก็จะประทับใจมากเช่นกัน
เคล็ดลับน่ารู้เพิ่มเติม

การต่อแถว

Photo from https://goodmanners.tokyo/museum/november-18-2016-2/
ความมีระเบียบเรียบร้อยเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากตั้งแต่เด็กจนไปถึงผู้ใหญ่ ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็จะเห็นคนญี่ปุ่นต่อแถวกันอย่างเรียบร้อย แม้แต่เว้นระยะห่างกันอย่างถูกต้องและเป็นระเบียบมากๆ
เวลาเราไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น การปฏิบัติตามระเบียบทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญ ต่อแถวรอขึ้นรถไฟก็ควรต่อเป็นแถวตรงให้เรียบร้อย ไม่ยืนเกาะกลุ่มกระจุกกันในแถว เวลาซื้อของเสร็จ รอชำระเงินที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ ก็ควรต่อแถวเป็นระเบียบตามเส้นลูกศรที่ทางร้านได้กำหนดไว้
อีกจุดสำคัญ ถ้าไปร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ก็อย่าลืมต่อแถว รอคิวตักอาหารถ้ามีคนอยู่ข้างหน้าเรา ถึงแม้ว่าเราจะไม่เลือกทานอาหารในลำดับแรกๆ คนญี่ปุ่นจะต่อแถว รอคิวจนถึงตำแหน่งที่เราต้องการจะทานแล้วค่อยตักอาหารในปริมาณที่สมควร ไม่ควรที่จะหยิบจานจากต้นแถว แล้วเข้าไปแทรกระหว่างกลาง
สิ่งที่คนญี่ปุ่นรับไม่ได้เลยคือ การแซงคิว!
การใช้เสียงในที่สาธารณะ

Photo from https://www.metrocf.or.jp/jigyou/manner_poster/2021.html
การตะโกนโวกเวกโวยวายในที่สาธารณะเป็นการกระทำที่คนญี่ปุ่นไม่ชอบ ในรถบัส รถไฟหรือรถสาธารณะอื่นๆ เราจะแทบไม่ได้ยินคนญี่ปุ่นคุยกันเสียงดัง ตะโกน ขำหัวเราะจนทุกคนในขบวนรถได้ยินหมด ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีมารยาทและให้ความเคารพต่อสิทธิผู้คนในที่สาธารณะเป็นอย่างมาก การส่งเสียงดังเป็นหนึ่งในการรบกวนคนอื่นที่คนญี่ปุ่นเองไม่ชอบ แม้แต่เสียงโทรศัพท์ดัง คนญี่ปุ่นก็รู้สึกขอโทษแล้วที่ลืมปิดเสียง ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะใช้เวลาในการอ่านหนังสือหรือทำงานบนโทรศัพท์ระหว่างการใช้รถสาธารณะ แน่นอน การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในรถสาธารณะก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นรับไม่ได้และก็เป็นข้อกำหนดอยู่แล้ว
นักท่องเที่ยวมารยาทดีอย่างคนไทยก็ควรปฏิบัติตามมารยาททางสังคมนี้ เวลาใช้รถสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือรถบัสไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ไม่ควรที่จะคุยเสียงดังและปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ งดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในขบวนรถ
ตามร้านขายของหรือห้างสรรพสินค้าก็เช่นกัน งดใช้เสียงดังและคุยกันในระดับเสียงที่เหมาะสม เราไม่ควรทำพฤติกรรมเหมือนชาติอื่นที่ตะโกนข้ามหัวคนอื่น “เอาอันนี้มั้ย????” จากมุมนึงไปอีกมุมนึงของร้าน ไม่เอานะครับ คนญี่ปุ่นไม่ประทับใจเลย
การรับของและยื่นของ

Photo from https://felia.373news.com/attachment/248810/
เวลาเราไปซื้อของที่ร้านค้า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศญี่ปุ่น ลองสังเกตเวลาที่พนักงานยื่นของหรือรับของจากเรา คนญี่ปุ่นจะรับของและยื่นของด้วยสองมือ
ตัวอย่างเวลาเราไปช้อปปิ้ง พร้อมที่จะจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ในขณะที่เรายื่นเงินให้ในกรณีที่ไม่มีฐานรองรับเงินอยู่ที่โต๊ะแคชเชียร์ พนักงานญี่ปุ่นจะยื่นมือทั้งสองข้างมารับอย่างสุภาพและถ่อมตน ทำให้เรารู้สึกว่าเขามีมารยาทมากและน้อมรับสิ่งที่เรากำลังจะให้อย่างเต็มใจ
ในทางกลับกันเวลาที่พนักงานร้านอาหารจะยื่นเงินทอนให้แก่ลูกค้า พนักงานจะนับเงินทอนให้ลูกค้าได้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมยื่นด้วยสองมืออย่างอ่อนน้อม ที่ร้านค้าทั่วไป เวลาจะยื่นสินค้าให้แก่ลูกค้าก่อนที่จะเดินออกจากร้าน ก็จะยื่นถุงหิ้วด้วยสองมือและมอบให้ลูกค้าอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นกัน
ในฐานะนักท่องเที่ยว ลองปฏิบัติวิธีการรับของแบบคนญี่ปุ่นโดยใช้มือสองมือในการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือเงินทอนจากพนักงาน ถ้าเราเป็นฝ่ายยื่นให้ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ทานเสร็จแล้วหรือสินค้าที่ต้องการจะให้พนักงานเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย แนะนำให้ยื่นด้วยมือสองมือเพื่อแสดงความจริงใจและให้เกียรติแก่กันและกัน จะเป็นที่ชื่นชมแก่คนญี่ปุ่นมาก
การใช้บริการร้านอาหาร

Photo from https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%E8%BF%94%E5%8D%B4%E5%8F%A3_Trash_Countre_(81521379).jpg
เวลาที่เราใช้บริการร้านอาหารจานด่วน ไม่ว่าจะเป็น Mcdonald KFC หรือ Food Court ตามห้างสรรพสินค้า เมื่อเราทานเสร็จ เราก็จะวางจานและถาดไว้บนโต๊ะนั้นแล้วเดินออกไปได้เลยในประเทศไทย แต่ที่ญี่ปุ่น การวางจานอาหารและถาดที่ทาเสร็จแล้วไว้บนโต๊ะกลับเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
คนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมในการรักษาความสะอาดและเห็นใจแก่ผู้ที่มาใช้บริการต่อไปเป็นอย่างมาก สิ่งที่ปฏิบัติการทุกคนนั่นคือ การนำถาดอาหารที่ทานเสร็จแล้วไปเก็บที่จุดรับทานอาหารให้เรียบร้อยด้วยตนเอง และถ้าบนโต๊ะมีเศษอาหารหรือคราบสกปรกจากการทานรับประทานอาหารของเรา ชาวญี่ปุ่นก็จะนำผ้าเช็ดโต๊ะที่วางไว้ณจุดบริการตนเองมาทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนที่จะลุกออกไปจากโต๊ะ
การปฏิบัติแบบนี้ในฐานะนักท่องเที่ยวก็ควรที่จะปฏิบัติตาม ถ้าได้ไปใช้บริการตามร้านอาหารประเภทนี้ ญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมในการให้มีพนักงานยืนคอยเก็บถาดอาหารอยู่เสมอเหมือนในประเทศไทย ถ้าเราทิ้งถาดอาหารไว้หลังรับประทานเสร็จจะเป็นที่เพ่งเล็งแก่คนญี่ปุ่นรอบข้างที่ใช้บริการอาหารนั้นๆว่าเป็นคนที่ไม่มีมารยาทและพฤติกรรมไม่ดี ไม่รู้จักรับผิดชอบ
นำถาดอาหารที่ทานเสร็จแล้วไปเก็บให้เข้าที่ก่อนที่จะลุกออกจากโต๊ะนะครับ
การรักษาความสะอาด

Photo from https://www5.city.kyoto.jp/zoo/news/20190617-35116.html
การรักษาความสะอาดเป็น Top priority หลักของคนญี่ปุ่นทุกคน ไม่ว่าเราจะไปสถานที่ที่ไหนในประเทศญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่ามาตรฐานในการรักษาความสะอาดของทุกสถานที่นั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก สนามบินนานาชาติประเทศญี่ปุ่นยังได้รับรางวัลสนามบินที่สะอาดที่สุดในโลก โดยการประเมินของสกายแทร็กซ์มาติดต่อกันหลายปี

สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ การทิ้งขยะให้ถูกต้อง ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดการบริหารขยะอย่างจริงจัง อะไรที่นำไปรีไซเคิลได้ก็จะนำไปแปรรูปรีไซเคิลเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆต่ออย่างยั่งยืน ส่วนเศษอาหารที่สามารถเผาทำลายได้ก็จะมีการแยกไว้อย่างชัดเจน ถังขยะในที่สาธารณะและตามอาคารสถานที่ทุกแห่งก็จะมีการจัดแยกประเภทอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะแบ่งเป็น ขยะที่เผาได้ ขยะที่เผาไม่ได้ ขวดพลาสติก กระป๋อง ขวดแก้ว และขยะประเภทกระดาษ นักท่องเที่ยวดีๆอย่างเราอย่าลืมแยกขยะให้ถูกต้องตามป้ายสัญลักษณ์ต่างๆที่ได้ระบุไว้ และที่สำคัญไม่ควรทิ้งขยะในที่ที่ไม่มีถังขยะหรือตามท้องถนนอย่างเด็ดขาดนะครับ
เคล็ดลับน่ารู้เพิ่มเติม

หลักง่ายๆที่นักท่องเที่ยวทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ เท่านี้เราก็สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งและสร้างมิตรภาพที่ดีๆระหว่างคนญี่ปุ่นกับไทยให้ยั่งยืน เพื่อให้อนาคตเราจะได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างอิสระมากขึ้นนะครับ