ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

การทิ้งขยะที่ถูกต้องในญี่ปุ่น

หัวข้อที่เกี่ยว
|
rubbish

เมื่อพูดถึงความสะอาดกันแล้ว ต้องปรบมือให้ประเทศญี่ปุ่นดังๆกันก่อนประเทศอื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือต่างจังหวัด มีโอกาสน้อยมากที่เราจะเห็นกองขยะตามพื้นถนน ชาวญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยในการรักษาความสะอาดทั้งในบ้านและบริเวณภายนอก ทุกคนมีความรับผิดชอบในการช่วยดูแลพื้นที่แถวนั้น ภาครัฐเองก็มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการเก็บและจัดการขยะ

ในฐานะนักท่องเที่ยวเราก็ต้องทำความเข้าใจกับกฎระเบียบในการทิ้งขยะของประเทศญี่ปุ่นให้ดี เพราะแต่ละเขตแต่ละเมืองมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถทิ้งขยะทุกสิ่งรวมกันในถังเดียวได้เหมือนที่บ้านเรา ยิ่งถ้าเป็นขยะใหญ่จำพวกตู้ โต๊ะหรือเครื่องใช้ไฟฟ้ายิ่งมีกระบวนการมากขึ้นและยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

วันนี้ เรามารู้จักกฎระเบียบพื้นฐานในการทิ้งขยะที่ประเทศญี่ปุ่นให้ถูกต้องกันครับ เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามครับ

แยกประเภทขยะ

ที่ญี่ปุ่น เราจะทิ้งรวมกันถังเดียวเหมือนประเทศไทยไม่ได้! ประเทศญี่ปุ่นแบ่งแยกขยะเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการดังนี้

1.ขยะที่เผาได้

ตัวอย่างเช่น เศษอาหารทุกชนิด เศษกระดาษที่ไม่เป็นเล่ม  ภาชนะประเภทพลาสติก เป็นต้น

2.ขยะที่เผาไม่ได้

ตัวอย่างเช่น เหล็ก อะลูมิเนียม หลอดไฟ แบตเตอรี่และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไดร์เป่าผม โทรศัพท์ เครื่องแปรงฟันไฟฟ้า เตารีดก็จัดอยู่ในขยะประเภทนี้

3.ขยะรีไซเคิลได้

ตัวอย่างเช่น ขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก หนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์และนิตยสาร

4.ขยะชิ้นใหญ่

ตัวอย่างเช่น ตู้ โต๊ะ ทีวี เครื่องซักผ้า ขยะชิ้นใหญ่ๆที่ไม่สามารถใส่ถุงได้

ในแต่ละจังหวัดและแต่ละเขตจะมีการแบ่งประเภทที่แตกต่างกันไป เราสามารถดูข้อมูลได้จากทางเวปไซต์ของเขตหรือป้ายประกาศตามอาคาร

รูปภาพตัวอย่างการจัดแยกประเภทขยะจากเมืองฟุคุจิ

http://www.town.fukuchi.lg.jp/life/gomi/2036.html

แยกถุงขยะ

การนำขยะจากที่พักออกมาทิ้งด้านนอกเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเก็บนั้น มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการเลือกใช้ถุงขยะที่ถูกต้อง ทุกคนต้องใช้ถุงขยะเฉพาะในแต่ละเขตซึ่งหาได้จากร้านสะดวกซื้อทั่วไปในราคาประมาน 200 เยนต่อ 1 แพคสำหรับถุงขยะขนาดเล็ก

ถุงขยะส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 ประเภทและ 2 สี ตัวอย่างเช่น ขยะที่เผาได้จะใช้ถุงสีเหลืองและขยะที่เผาไม่ได้จะใช้ถุงสีน้ำเงิน หน้าที่ของเราง่ายๆคือ ต้องจัดหาซื้อถุงขยะที่สำนักงานเขตที่เราพักอยู่กำหนดไว้และแยกขยะใส่ให้ถูกต้องตามประเภท บางเขตจะให้มีการระบุชื่อของผู้ทิ้งไว้ที่ถึงขยะด้วย ก่อนนำออกไปนอกบ้านเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเก็บไป

ตัวอย่างประเภทถุงขยะเผาได้และเผาไม่ได้

http://www.hokkaido-nl.jp/article/14865

เราไม่สามารถใช้ถุงพลาสติกทั่วไปใส่ขยะและนำออกไปทิ้งได้ เจ้าหน้าที่เขตจะไม่รับเก็บขยะที่ไม่ได้ใส่บรรจุในถุงขยะที่ถูกต้อง ส่วนขยะประเภทรีไซเคิลจะต้องแยกและนำไปทิ้งในภาชนะที่ทางอาคารและเขตกำหนดไว้ต่างหาก ไม่สามารถใส่ปนไปในถุงขยะเผาได้เช่นกัน มิฉะนั้น ทางเขตจะไม่เก็บขยะให้ครับ

แยกขยะรีไซเคิลได้

ต่อมาคือการแยกขยะที่สามารถนำไปแปรรูปหรือขยะประเภทรีไซเคิล ในแต่ละเขตที่อยู่อาศัยหรือตามตึกบ้านพักจะมีห้องหรือบริเวณรวบรวมขยะ ณ จุดนั้นจะมีกล่องภาชนะวางไว้ให้เราแยกประเภทขยะรีไซเคิลจำพวก หนังสือพิมพ์ นิตยาสาร ขวดพลาสติกและฝาขวด ขวดแก้ว กระป๋องและอื่นๆ ซึ่งแต่และเขตและจังหวัดมีการจัดการแยกที่แตกต่างกันไป

บางเขตที่มีการเข้มงวด เราจำเป็นต้องแยกป้ายฉลาก พลาสติกที่ติดอยู่กับขวดออกก่อนทิ้งด้วย กระป๋องเปล่าอาจจะต้องแยกสีระหว่างประป๋องสีเงินและสีอื่นๆ แนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลการแยกขยะรีไซเคิลให้ดีก่อนนำขยะออกไปทิ้งครับ

ตัวอย่างรูปภาพจาก https://www.city.kita.tokyo.jp/kitakuseiso/kurashi/gomi/bunbetsu/shigen/bin.html

ตรวจสอบวันทิ้งขยะ

ตัวอย่างรูปภาพจาก http://www.city.daito.lg.jp/kurashi/gomi_recycle/1583312865438.html

ประเทศญี่ปุ่นมีการกำหนดวันเก็บขยะที่ชัดเจนในแต่ละเขตและจังหวัด เราไม่สามารถนำขยะออกมาทิ้งได้ทุกวันตามใจชอบ ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลได้จากตารางการเก็บขยะที่ทางเขตนั้นให้แจ้งไว้ตามป้ายประกาศที่อาคารอยู่อาศัยหรือจากทางเว็ปไซต์ของเขต

ในหนึ่งอาทิตย์จะมีกำหนดการเก็บขยะแต่ละประเภทผลัดกันไป ขยะประเภทเผาได้จะมาเก็บให้บ่อยที่สุดประมาณ 3-4 วันต่ออาทิตย์ ขยะประเภทอื่นๆจะมาเก็บอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง หน้าที่ของเราคือตรวจสอบวันเวลาให้ดีและนำขยะออกไปด้านนอกในคืนก่อนวันที่กำหนด ตัวอย่างเช่น ถ้ากำหนดการเก็บขยะที่เผาไม่ได้คือวันพุธ เราสามารถนำขยะนั้นออกไปวางนอกบ้างหรือที่วางขยะในคืนวันอังคารหรือเช้าวันพุธเท่านั้นครับ

การทิ้งขยะใหญ่

ประเทศญี่ปุ่นมีระบบการจองระบุวันเพื่อให้มารับขยะชิ้นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า ไมโครเวฟ ทีวี เครื่องซักผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เราจะต้องโทรจองวันกับทางเขตและชำระค่าบริการเก็บและค่ารีไซเคิลขยะชิ้นใหญ่ ซึ่งราคานั้นแตกต่างกันไปตามขนาดและประเภทของสิ่งของ เมื่อเราได้ชำระเงินแล้วเราจะได้เป็นสติกเกอร์มา

ติดไว้กับเครื่องใช้เหล่านั้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่าเราได้ทำงานจองและชำระค่ารีไซเคิลแล้วครับ ปัจจุบันเราสามารถหาซื้อสติกเกอร์นี้ได้ง่ายขึ้นตามร้านสะดวกซื้อในประเทศญี่ปุ่น

ถ้าเครื่องใช้ชิ้นใหญ่นั้นยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ เราสามารถเรียกร้านรีไซเคิลมารับซื้อไปได้เช่นกัน ถึงจะไม่ได้ราคาที่สูงแต่เราก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทิ้งขยะชิ้นใหญ่ครับ

ตัวอย่างรูปภาพจาก https://www.city.suginami.tokyo.jp/guide/gomi/seisou/1004900.html

การเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี

การแยกขยะนั้น ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะผู้ที่พักในอาคารที่อยู่อาศัยเท่านั้น นักท่องเที่ยวที่พักอาศัยอยู่ตามโรงแรมก็ต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการแยกขยะเช่นกัน ทุกโรงแรมจะมีถังขยะที่แยกประเภทไว้ สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งก็จัดแยกถังขยะไว้ให้อย่างดีเช่นกัน เราต้องจัดแยกประเภทขยะและทิ้งไว้ถูกถังตามรูปที่แจ้งไว้นะครับ

ตัวอย่างรูปภาพจาก

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Specific_(2765060104).jpg

บินตรงจากไทยไปเมืองไหนในญี่ปุ่นบ้างประเทศญี่ปุ่นยังคงยืนเป็นหนึ่งในประเทศที่คนไทยทุกคน รอวันที่ประเทศจะ...
working in japan
เจาะลึกการทำงานในประเทศญี่ปุ่นการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น อาจเป็นความฝันของหลายคนที่ชอ...
ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Ammer
สวัสดีครับ ผมแอมเมอร์ ครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Nanzan University ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นกว่า 7 ปี อดีต เป็นพนักงานต้อนรับบนเรื่องบินและบินเส้นทางญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ ประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัจจุบันทำงานเป็นให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง นอกเหนือจากงานเขียนบน OhHoTrip ยังมีผบงานเขียนหนังสือออนไลน์ เรียน"ญี่ปุ่น" ยังไงให้รอด และช่อง Youtube เกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถ้าชอบ Blog ที่ผมเขียน ช่วยกด LIKE กดแชร์ด้วยนะครับ :) https://www.youtube.com/c/Ammerkongtangjitt-japan
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!