ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

เจาะลึกการทำงานในประเทศญี่ปุ่น

หัวข้อที่เกี่ยว
|
working in japan

การทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น อาจเป็นความฝันของหลายคนที่ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเรียนภาษาญี่ปุ่นมา ด้วยเหตุผลที่บริษัทญี่ปุ่นให้รายได้เริ่มต้นที่สูงและมีสวัสดิการให้อย่างเต็มที่ โดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานจบใหม่จะมีรายได้เริ่มต้นที่ 200,000 เยนหรือประมาณ 57,000 บาท ไม่รวม allowance ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถหรือค่าเช่าบ้านที่บริษัทใหญ่ๆจะมีให้พนักงานกัน เลยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ค่าแรงสูงและเป็นที่นิยมแก่ชาวต่างชาติหลายคนที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ย้ายมาหางานกันในญี่ปุ่น

แต่ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การปรับตัว ปรับความเข้าใจให้เข้ากับสังคมการทำงานในประเทศญี่ปุ่นนั้นสำคัญมาก วันนี้ผมได้สรุปข้อควรรู้และสิ่งที่ควรเข้าใจไว้ก่อนที่จะเริ่มทำงานกับชาวญี่ปุ่น เพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นแก่ผู้ที่สนใจอยากจะไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นครับ

1) การเริ่มงานวันแรก

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.illust-box.jp/sozai/132587/

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเข้างานวันแรกในบริษัทญี่ปุ่นคือ การเดินแนะนำตัวและทักทายทุกแผนกและผู้ใหญ่ทุกคนในบริษัท ตั้งแต่ผู้บริหารชั้นสูงไปจนถึงผู้จัดการทุกแผนกไม่ว่าเราจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม นี่คือวัฒนธรรมการทักทายที่ชาวญี่ปุ่นถือกันมาตั้งแต่อดีตและให้ความสำคัญแก่การทักทายแนะนำตัวให้รู้จักกับทุกคนภายในบริษัท อย่างน้อยก็ต้องกล่าวให้รู้จักชื่อตัวเองและฝากเนื้อฝากตัวกับทุกคน

ในแผนกตัวเองก็ควรจะแนะนำตัวให้มากขึ้นว่า ตัวเองมาจากที่ไหนและมีงานอดิเรก ความชอบอะไรเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานและรุ่นพี่ในแผนก ปิดท้ายด้วยการกล่าวฝากเนื้อฝากตัว ไม่ว่าตัวเองจะมีประสบการณ์มาก่อนหรือไม่ แต่การฝากเนื้อฝากตัวแบบถ่อมตัว ให้ช่วยสอนและแนะนำในเรื่องต่างๆเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในวันแรกครับ หัวหน้าแผนกจะเป็นคนพาเดินแนะนำอยู่แล้ว ให้เราเตรียมตัวไว้ได้เลย

2) การแต่งกาย

ขอบคุณรูปภาพจาก https://biz.menz-style.com/item/pr?pr_id=834

ความสุภาพและเรียบร้อยเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น การแต่งกายมาทำงานในกรณีที่ไม่มีชุดยูนิฟอร์ม เราควรจะเลือกเสื้อผ้าสีสุภาพ ตัวอย่างเช่นสีน้ำตาล สีดำ สีกรม หรือสีเทาในกรณีใส่สูท เสื้อเชิตก็ควรจะเป็นสีสะอาด สีขาวหรือสีฟ้าอ่อน ชาวญี่ปุ่นมองสีสดเช่น แดงหรือส้ม เป็นสีที่ไม่สุภาพและไม่เหมาะกับการใส่มาทำงาน ถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีแฟชั่นสีสันมาก แต่เมื่อมาทำงานแล้ว ทุกอย่างต้องดูสุภาพและเรียบร้อย

ผู้ชายต้องให้ความสำคัญกับความเรียบร้อยของเสื้อเชิ้ตที่ต้องเรียบเสมอ และเนคไทต้องเป็นสีที่สุภาพไม่มีลายมากเกินไป ไม่ควรที่จะใช้เนคไทสีสันเด่นๆและมีลายการ์ตูนไปทำงาน ควรเลือกสีโทนเข้มไม่ว่าจะดำหรือสีกรม สามารถมีลายทางได้แต่ต้องดูแล้วสุภาพ

ผู้หญิงสามารถใส่ชุดเดรสที่มีสีอ่อน สีครีม สีขาว สีฟ้าได้ แต่ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด การเลือกใช้กระเป๋าและรองเท้าก็ควรจะเป็นรายเรียบหรือมีลายทางสุภาพ ไม่ควรใช้กระเป๋าที่มีสีสันฉูดฉาดหรือมีลายดอกไม้ การ์ตูนต่างๆเพราะจะดูไม่เป็น Professional

การจัดทรงผม ไม่ว่าผู้หญิงกับผู้ชายต้องให้เรียบร้อย มีการจัดทรงที่ดี ไม่ยุ่งเหยิง สามารถลงแว๊กและจัดสไตล์ทรงผมได้

ขอบคุณรูปภาพจาก http://design-dtp.net/working-fashion/

3) การตรงต่อเวลา

ขอบคุณรูปภาพจาก  https://lostash.jp/sales/business-manners/1077327

ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อเวลามากแม้แต่นาที การตรงต่อเวลาเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในการทำงานถือเป็นหนึ่งคุณสมบัติที่ทุกคนต้องมีเป็นพื้นฐาน

เวลาเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ก็จะมีการตอกบัตรโดยใช้บัตรประจำตัวพนักงานไปที่เครื่องตอกเวลา พนักงานทุกคนจะมาถึงออฟฟิศโดยประมาณ 10 ถึง 15 นาทีก่อนเวลาเริ่มงานเพื่อเตรียมตัวในการทำงาน ตัวอย่างเช่น เก็บกระเป๋า เปิดคอมพิวเตอร์หรือเซ็ตห้องประชุมไว้ก่อนเวลางาน ถ้ามีเวลาเหลือ ส่วนใหญ่ก็จะนั่งกินกาแฟกัน

ถ้ามีการนัดหมายในด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกับแผนกอื่นๆในบริษัท หรือคู่ค้าภายนอก การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญและสามารถส่งผลถึงความสำเร็จในตัวงานและธุรกิจที่เรารับผิดชอบอยู่ได้ ถ้าเรามาสาย คู่ธุรกิจจะมองว่าเราขาดความรับผิดชอบทันทีและโอกาสสูงที่จะไม่เซ็นสัญญาหรือร่วมงานกับเรา

เราควรจะไปก่อนเวลานัด 10-15 นาที หรือถ้าเป็นสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ให้ไปล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 30 นาที เพื่อตรวจสอบสถานที่ให้ถูกต้องกันหลงทาง ส่วนเวลาที่เหลือ เราสามารถหาร้านกาแฟ นั่งเตรียมงานได้อยู่แล้ว ดีกว่าไปสายและเสียงาน

4) ภาษาในการสนทนา 

ภาษาญี่ปุ่นจะมีกลุ่มคำพิเศษที่มีชื่อว่า 敬語・尊敬語 (Keigo・Sonkeigo) หรือภาษาไทยเรียกว่า กลุ่มคำยกย่องและถ่อมตัว เป็นภาษาสุภาพที่ใช้ในการพูดกับผู้ใหญ่และในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับรุ่นพี่ หัวหน้า ผู้จัดการ ผู้บริหารหรือลูกค้าคู่ธุรกิจ ทุกคนจำเป็นต้องรู้จักการใช้คำยกย่องและถ่อมตัวให้ถูกต้อง ทั้งเวลาสนทนารวมถึงการส่งอีเมลต่างๆ

ตัวอย่างเช่น

食べます เปลี่ยนเป็น召し上がります(ยกย่อง)頂きます(ถ่อมตัว)
Tabemasumeshiagarimasu itadakimasu

รูปธรรมดาจะใช้ในชีวิตประจำวันเวลาคุยสนทนากับคนรู้จักและเพื่อนๆ รูปยกย่องจะใช้เวลากล่าวถึงผู้ที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น หัวหน้าหรือลูกค้า ส่วนรูปถ่อมตัว ใช้ในการพูดถึงตัวเองเวลาอยู่กับผู้ที่อาวุโสกว่าครับ

ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับใช้ภาษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์เป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในมารยาททางสังคมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาตลอด อาจจะยากสำหรับคนไทยในเบื้องต้น แต่เราสามารถฝึกฝนกันได้ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ต้องเรียนการใช้ภาษายกย่องและถ่อมตัวที่ถูกต้อง เพราะปกติแล้วคำพวกนี้จะไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทางบริษัทจะจัดเทรนนิ่งในเรื่องของการใช้ภาษาและมารยาทในการทำงานที่ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณีญี่ปุ่นให้กับพนักงานที่จบใหม่ก่อนที่จะเริ่มทำงาน

โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรมและการบริการ เรื่องคำยกย่องและถ่อมตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก บริษัทจะจัด Training อย่างเข้มงวดในเรื่องนี้เช่นเดียวกันเพื่อสามารถต้อนรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

5) การจัดตำแหน่งงาน

ขอบคุณรูปภาพจาก https://schoo.jp/biz/column/391

พนักงานจบใหม่ที่เข้ามาทำงานในบริษัทญี่ปุ่นจะเริ่มต้นในตำแหน่งพนักงานทั่วไปหรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 総合職 (sougoushoku) สำหรับนักเรียนที่เรียนสายศิลป์มา และ 技術職 (gijutsushoku) สำหรับนักเรียนที่เรียนสายเทคโนโลยีหรือวิศวกรมา

บริษัทญี่ปุ่นจะจัดตำแหน่งให้หลังจากจบการ General Training ประมาณ 2-3 อาทิตย์ โดยที่เราสามารถยื่นเรื่องขอตำแหน่งหรืองานที่อยากจะทำได้ แต่ก็จะไม่มีการสัญญาว่าจะได้รับตำแหน่งที่อยากจะทำหรือเปล่า

ถ้าจบมาจากสายศิลป์ ไม่ว่าคุณจะจบมาจากคณะไหน คุณอาจจะได้ทำงานฝ่ายบุคคล งานบัญชี งานขาย งานmarketing การวางแผน ส่วนคนที่จบจากสายวิศวกรก็อาจจะได้ทำการพัฒนาสินค้า การพัฒนาการผลิต แล้วแต่ความเหมาะสมที่บริษัทจะจัดลงให้ ทั้งนี้ไม่รวมกับสายงานวิชาเฉพาะ เช่นหมอหรือพยาบาลเป็นต้น

ข้อดีของการรับตำแหน่งแบบทั่วไปคือเราสามารถค้นหาตัวเองได้ว่างานไหนเหมาะสมกับเราที่สุด เพราะจะมีการ rotation ของตำแหน่งและแผนกไปเรื่อยๆใน 3-5 ปีเพื่อให้ได้มีประสบการณ์ในหลายๆสายงาน ใครที่เรียนสายวิทย์ แต่อยากจะทำงานการบริหารในการจัดการ ก็สามารถขอเปลี่ยนได้ในอนาคตเช่นกัน ข้อเสียก็คือเราอาจจะไม่ได้รับงานที่เราอยากจะทำเป็นระยะเวลาหลายปีและต้องทนอยู่อย่างนั้น สุดท้ายอาจจะต้องตัดสินใจเปลี่ยนงานถ้าเราไม่ชอบจริงๆ เพราะบริษัทญี่ปุ่นจะไม่มีการยืดหยุ่นในการเปลี่ยนตำแหน่งงานได้ง่ายๆ

ถ้าคุณมีโอกาสเข้าร่วมกับบริษัทใหญ่ๆที่มีอุตสาหกรรมและ Businessในหลายพื้นที่ เราก็จะไม่รู้ว่าจะได้ทำงานในอุตสาหกรรมไหนและจังหวัดไหนจนกว่าจะจบ General Training ตัวอย่างเช่น ถ้าร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Hitachi ซึ่งมี Business เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรม  และอุปกรณ์เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและอื่นๆเป็นต้น เราจะทราบอีกทีว่า เราจะได้ทำงานใน business ไหนและในตำแหน่งไหนหลังจากจบ General Training  แน่นอน เราสามารถคุยกับทางบริษัทในตำแหน่งและสายงานที่อยากจะทำได้ แต่ก็ไม่รับรองว่าจะได้ทำในสายงานนั้นหรือจังหวัดนั้นหรือเปล่า หลายคนก็ได้ตามที่คาดหวังไว้ และหลายคนก็ผิดหวังและต้องโดนย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่นๆที่ไม่อยากจะอยู่ก็ได้

ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น ให้ศึกษาข้อมูลวัฒนธรรมและการจัดตำแหน่งงานให้ดี เพราะต่างจากวัฒนธรรมการหางานที่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก แม้แต่บริษัทญี่ปุ่นที่ไทยด้วยกันเองก็ไม่เหมือนกับบริษัทญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นนะครับ

6) ระยะเวลาการทำงาน

ขอบคุณรูปภาพจาก https://biz.trans-suite.jp/32469

อาจเป็นที่รู้จักกันแล้วว่า คนญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำงานหนักตั้งแต่เช้ายันดึก ซึ่งมาจากสังคมของญี่ปุ่นโบราณที่ว่า ยิ่งทำงานนานเกินเวลา ถือว่าเป็นพนักงานที่ดี  ซึ่งแตกต่างจากบริษัทฝรั่งที่ถ้าทำงานเกินเวลา ถือว่าเป็นลบ เป็นคนไม่สามารถจัดการเวลาของตัวเองได้

ถ้าเดินตามเมืองหลังจากเวลาเลิกงานปกติ ก็จะเห็นไฟออฟฟิศเปิดสว่างตลอดจนถึงดึกๆค่ำคืน เพราะพนักงานหลายคนก็ยังนั่งทำงานกันอยู่ต่อ บางทีมีออกมาทานข้าวเย็นข้างนอก แล้วก็กลับเข้าไปทำงานต่ออีก จนถึงเกือบเที่ยงคืนถึงจะออกจากงานและกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็ตื่นมาเข้าออฟฟิศเวลา 9:00 น ตามปกติ

การทำงานล่วงเวลาเป็นเวลานานของชาวญี่ปุ่นได้เป็นที่วิจารณ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจกับต่างชาติได้มีการปรับวัฒนธรรมองค์กร โดยมีการจำกัดเวลาล่วงเวลาให้ไม่เกิน 30-40 ชั่วโมงต่อเดือน และเข้มงวดในการจัดสรรปริมาณงานให้แต่ละคน รวมถึงสนับสนุน work Life Balance ที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน ในฐานะพนักงานต่างชาติที่จะทำงานในประเทศญี่ปุ่น ให้ตรวจสอบนโยบายการทำงานล่วงเวลาให้ดี เพราะบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง ไม่มีการให้ค่าแรงเพิ่มหลังจากเวลางานและได้ถูกขึ้นเป็น Blacklist แล้ว เราไม่ควรจะร่วมงานด้วยอย่างเด็ดขาด ไม่งั้นจะเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งกายและใจภายหลังได้

7) สังคมแบบแนวตั้ง

สังคมการทำงานในญี่ปุ่นจะเป็นแบบแนวตั้ง นั่นคือรุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ ลูกน้องต้องเคารพเจ้านาย ในลำดับเหมือนพีระมิดที่มีผู้บริหารสูงสุดอยู่บนยอด การทำงานก็จะเป็นแนวตั้งที่รับคำสั่งลงมาอีกทีจากผู้บริหารต่อๆลงมา ไม่ว่าจะเป็น project หรือการเสนอความคิดไอเดียใดๆ ต้องทำเรื่องไปเป็นตามลำดับโดยผ่านเป็นแนวตั้งขึ้นไป ตั้งแต่ ผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการแผนก ผู้จัดการสาขา ผู้จัดการเขต ไปเรื่อยๆเป็นต้น

ต่างจากวัฒนธรรมสังคมแบบตะวันตกที่เป็นเหมือนพี่น้องและผองเพื่อน ที่ทุกคนสามารถแชร์ไอเดียกันและเสนอความคิดเห็นได้อย่างอิสระอย่างเท่าเทียม ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานทั่วไปกับผู้บริหารก็จะมีระยะห่างอยู่สมควรในบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งทุกคนต้องรู้มารยาทและสำนวนภาษาในการเข้าพบและสนทนากับผู้บริหารอย่างเหมาะสม

ด้วยเหตุผลนี้การตัดสินใจใน Project ใดๆก็ตามของบริษัทจะล่าช้า เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนและบุคคลหลายชั้นจนกว่าจะสามารถหาข้อสรุปและข้อตัดสินใจได้ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งเสียตลาดในระดับโลกที่บริษัทอื่นต่างชาติมีความเคลื่อนไหวและการตัดสินใจรวดเร็วกว่าบริษัทญี่ปุ่น

8) 印鑑 (Inkan)

ขอบคุณรูปภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Inkan.JPG

ตัวสแตมป์ชื่อของตัวเองแทนการเซ็นชื่อที่เรียกว่า 印鑑 (inkan) เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันหลายบริษัทก็ยังใช้แสตมป์นี้ในการอนุมัติและรับรองเอกสารต่างๆ เวลาเข้าบริษัทญี่ปุ่นเขาก็จะให้เราไปสร้างตัวสแตมป์ชื่อของเรามาใช้กับเอกสารทุกอย่างในบริษัท น้อยครั้งที่จะมีการเซ็นชื่อเป็นลายเซ็นด้วยปากกา เพราะสถานที่ราชการ รวมถึงธนาคารต่างๆ ก็จะให้ความสำคัญกับตัวแสตมป์นี้ในการรับรองและอนุมัติเอกสารมากกว่าลายเซ็นด้วยมือ

9) การเลี้ยงสังสรรกับคนในบริษัท

ขอบคุณรูปภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Enkai_in_Kumamoto.jpg

ชาวญี่ปุ่นคลายเครียดจากงานด้วยการไปดื่มและทานอาหารด้วยกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะวันศุกร์ที่จะเห็นกลุ่มพนักงานชาวญี่ปุ่นไปรวมตัวกันที่อิซากายะหรือบาร์ต่างๆหลังเลิกงาน เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ถ้าผู้ใหญ่หรือรุ่นพี่ในบริษัทชวนให้เราไป เราจะปฏิเสธได้ยาก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่รุ่นพี่จะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนมากหรือทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อเราทำงานได้สักพัก แล้วเป็นรุ่นพี่แล้ว เราก็ต้องถือความรับผิดชอบนี้เวลาไปดื่มกับรุ่นน้องในบริษัทเช่นกัน


ฟังดูแล้วการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น ดูเหมือนจะซีเรียสและมีระบบวัฒนธรรมทางสังคมที่แตกต่างอย่างมากกับประเทศไทย แต่ถ้าเราสามารถปรับตัวได้และหาบริษัทที่อยากร่วมทำงานที่ดี นอกจากจะได้ค่าตอบแทนสูงแล้ว เราจะได้พัฒนาความสามารถให้ดีขึ้นได้ด้วย เพราะเวลาบริษัทญี่ปุ่นรับเข้าทำงานจะไม่มีการไล่ออกนอกจากจะทำความผิดใดๆร้ายแรงทางกฎหมาย

บริษัทญี่ปุ่นดีอย่างที่มีความรับผิดชอบในการรับบุคคลเข้ามาทำงาน จะช่วยผลักดันพัฒนาให้บุคคลนั้นมีความสามารถมากขึ้นเพื่อให้บริษัทมีความก้าวหน้าต่อไป

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Ammer
สวัสดีครับ ผมแอมเมอร์ ครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Nanzan University ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นกว่า 7 ปี อดีต เป็นพนักงานต้อนรับบนเรื่องบินและบินเส้นทางญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ ประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัจจุบันทำงานเป็นให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง นอกเหนือจากงานเขียนบน OhHoTrip ยังมีผบงานเขียนหนังสือออนไลน์ เรียน"ญี่ปุ่น" ยังไงให้รอด และช่อง Youtube เกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถ้าชอบ Blog ที่ผมเขียน ช่วยกด LIKE กดแชร์ด้วยนะครับ :) https://www.youtube.com/c/Ammerkongtangjitt-japan
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!