ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

รู้จัก “พิธีชงชาญี่ปุ่น” (Japanese Tea Ceremony) ศาสตร์และศิลป์แห่งสุนทรียภาพ

JP Tea Ceremony-dd51abae

เสื่อทาทามิในเรียวกังญี่ปุ่น กลิ่นกรุ่นมัทฉะหอมฟุ้ง กาน้ำร้อนบนเตาไฟกลางห้อง รอยขีดข่วนในถ้วยชาร้อนขนาดใหญ่อันเกิดจากการเสียดสีของที่ชงชาซึ่งทำจากไม้ไผ่ ท่วงท่าอ่อนช้อยของตัวผู้ชงในชุดยูกาตะ ทั้งหมดรวมกันเป็นภาพที่เรานึกได้เมื่อเอ่ยถึง “พิธีชงชาญี่ปุ่น” หนึ่งในศาสตร์และศิลป์แห่งการต้อนรับที่แสนละมุนละไมตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น

“พิธีชงชาญี่ปุ่น” ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ชะโนยุ (Chanoyu) หรือ ซะโด (Sado) หรือบางที่อาจจะเรียกแค่ โอฉะ (Ocha) ซึ่งแปลว่า “วิถีแห่งชา” (The Way of Tea) คือ พิธีกรรมการเสิร์ฟและดื่มชาเขียวมัทฉะชงร้อนๆ ด้วยอุปกรณ์พิเศษสำหรับชงชา เพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน มีกระบวนการที่เป็นขั้นตอนตามกำหนดการและท่วงท่าอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นศิลปะที่แม้จะไม่ได้วาดลวดลายร่ายรำแต่กลับดูมีเสน่ห์เฉพาะตัวอย่างเหลือเชื่อ และสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าผ่านวิถีชีวิตอันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ความเป็นมาของพิธีชงชาญี่ปุ่น

เดิมทีแล้ว “การดื่มชา” เป็นวัฒนาธรรมจากประเทศจีนที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นช่วงศตวรรษที่ 8 โดยเหล่านักบวชที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา โดยจะเป็นการดื่มชาที่ชงจากยอดใบชาเป็นหลัก จนถึงปลายศตวรรษที่ 12 จึงเริ่มมีการชงชาด้วยผงชาเขียวมัทฉะ และได้ความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูง เหล่านักรบขุนนางตลอดจนพ่อค้าวานิช รวมไปถึงกลุ่มคนผู้มั่งคั่งในสังคม ที่มักจะมารวมตัวกันในงานแสดงศิลปะภาพวาดและงานวิจิตรศิลป์ต่างๆ พร้อมดื่มชาจากพิธีชงชาที่บรรจุเข้ามาภายในงาน

จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 14 โดยท่าน เซ็น โนะ ริคิว (1522-1591) “บิดาแห่งพิธีชงชายุคใหม่”  ได้พัฒนาพิธีชงชาให้มีความศักดิ์สิทธิ์ มีแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอน แต่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายและแฝงแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซน (Zen) ซึ่งเน้นจิตวิญญาณที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ปลูกฝังให้ผู้ชงจริงใจขณะชงชาด้วยจิตใจอันสงบและบริสุทธิ์

รายละเอียดและขั้นตอนของพิธีชงชาญี่ปุ่น

ดั้งเดิมนั้นพิธีชงชาอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบจะใช้เวลาหลายชั่วโมง เริ่มต้นด้วยการเสิร์ฟอาหารชุดไคเซกิ (Kaiseki Course Meal) ตามด้วยชาแบบเข้มข้น และตบท้ายด้วยการเสิร์ฟชารสชาติอ่อนละมุน แต่ในปัจจุบันอาจจะตัดความวุ่นวายออกให้เหลือเสิร์ฟชาแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น

เสน่ห์ของการชงชาอยู่ที่การเคลื่อนไหวของมือผู้ชงแต่ละคน ซึ่งถูกสอนมาแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน (โรงเรียนสอนชงชา) ซึ่งคนทั่วไปอย่างเราๆอาจจะแยกรายละเอียดไม่ได้ แต่สำหรับเหล่านักชงแล้ว จะรู้กันดีว่าแบบไหนอย่างไรที่เรียกว่าท่วงท่าอันงดงาม และถือว่าเป็นเกียรติยศแห่งนักชงเลยก็ว่าได้

– การแต่งกาย: แต่งกายสุภาพ หลีกเลี่ยงแฟชั่นฉูดฉาดและน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุนที่อาจจะเบี่ยงเบนความสนใจจนทำให้คุณเสียสมาธิและพลาดประสบการณ์ดื่มชาแบบดั้งเดิมไปอย่างน่าเสียดาย ถอดเครื่องประดับจำพวกแหวนหรือกำไล ที่อาจจะเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายแก่อุปกรณ์ชงชาได้

– สวนญี่ปุ่น: สถานที่สำหรับพิธีชงชาดั้งเดิมนั้น จะรายล้อมไปด้วยสวนสวยเพื่อให้จิตใจสงบและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ แม้ในปัจจุบัน พิธีชงชาของหลายๆแห่งอาจไม่ได้มีสวนแบบสมัยโบราณ แต่ก็มีความพยายามที่จะจัดวางพื้นที่ให้ออกมาคล้ายสวนญี่ปุ่น โดยหลีกเลี่ยงดอกไม้สีฉูดฉาดและมีกลิ่นฉุนเพราะอาจทำให้เสียสมาธิ ตกแต่งด้วยหินที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน วางโรยเป็นเส้นทางเพื่อนำไปสู่โรงน้ำชา มีการวางโคมไฟไว้ใกล้กับอ่างหินทางเข้าเพื่อให้ผู้มาเยือนได้ล้างมือก่อนเข้าห้องน้ำชา

– ห้องชงชา: จะเป็นห้องที่จัดแบบเรียวกังปูด้วยเสื่อทาทามิ ประตูทางเข้าสำหรับแขกในบางครั้งอาจจะมีพื้นที่ต่ำกว่าเพื่อให้แขกต้องก้มตัวเข้ามา (สัญลักษณ์ของความอ่อนน้อมถ่อนตน) เข้ามานั่งที่ตำแหน่งที่เตรียมไว้ให้ บางที่อาจมีการตกแต่งซุ้มประตูด้วยดอกไม้หรือม้วนกระดาษรูปร่างต่างๆ

– อุปกรณ์การชงชา:

  • กาน้ำต้มน้ำ (คามะ)
  • โถใส่ผงชามัทฉะ (นัทสึเมะ)
  • โถใส่ชา (ชะริเอะ)
  • ช้อนตักผงชาทำจากไม้ไผ่ ลักษณะยาวปลายแหลมเล็ก (ชะฉะคุ)
  • อุปกรณ์สำหรับคนชาทำจากไม้ไผ่ (ชะเซน)
  • ถ้วยชาขนาดใหญ่ (ชะวัง)
  • ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาดถ้วยชาทำจากป่าน (ชะคิง)
  • กระบวยตักน้ำสำหรับชงชา (ฮิชะคุ)

** (ข้อมูลจาก สัมผัสศิลปะและวัฒนธรรมด้วยพิธีชงชาแบบญี่ปุ่น | JNTO)

– ขั้นตอนการชงชา: จะมีการเสิร์ฟขนมให้รับประทานก่อนดื่มชา (มักเป็นขนมประจำท้องถิ่นหรือขนมหวานดั้งเดิมของญี่ปุ่น) โดยขั้นตอนของพิธีจะเริ่มจากผู้ชงชาใช้ช้อนตักผงชาจากโถใส่ลงไปในถ้วยชา จากนั้นใช้กระบวยตักน้ำร้อนใส่ถ้วยชา ผู้ชงใช้ชะเซนคนชาให้เข้ากันจนชาแตกฟองเป็นที่พอใจจึงนำไปวางไว้บนเสื่อทาทามิตรงด้านหน้าแขก

– ดื่มด่ำกับวิถีแห่งชา: หลังจากที่ผู้ชงชานำถ้วยชามาวางไว้ตรงหน้าแขกแล้ว แขกผู้ดื่มจะกล่าวขออนุญาตดื่มชา (ขออนุญาตด้วยนะคะ/ครับ) แล้วยกถ้วยชาด้วยมือขวานำมาวางบนฝ่ามือข้างซ้ายก่อนจะหมุนถ้วยตามเข็มนาฬิกาให้ส่วนที่มีลวดลายของถ้วยชาหันออกด้านนอกให้ผู้อื่นเห็น (มารยาทการดื่มชาคือ ห้ามหันลวดลายเข้าหาตนเองเด็ดขาด) จากนั้นจึงดื่มด่ำกับรสชาติและกลิ่นกรุ่นของน้ำชา หลังจากดื่มชาแล้ว ผู้ดื่มจะเช็ดขอบถ้วยบริเวณที่ดื่ม แล้วหมุนถ้วยทวนเข็มนาฬิกาสามครั้งก่อนวางถ้วยชาลงที่เดิมพร้อมโค้งคำนับขอบคุณ

– เสร็จสิ้นพิธี: หลังดื่มชาเสร็จจะเป็นเวลาของการชื่นชมถ้วยชาด้วยการยกขึ้นเพื่อชื่นชมตามเวลาที่เหมาะสม ก่อนจะวางถ้วยชาโดยหันด้านที่มีลวดลายไปทางเจ้าบ้านหรือผู้ชงชา โดยผู้ชงจะถามแขกว่าต้องการชาอีกไหม หากแขกตอบว่าไม่ ผู้ชงจะนำถ้วยชามาล้างและนำอุปกรณ์กลับไปเก็บยังที่เก็บเดิมตั้งแต่ก่อนเริ่ม ถือว่าพิธีชงชาเป็นอันสิ้นสุดลง

ปรัชญาที่ได้จากพิธีชงชาญี่ปุ่น

จุดหมายหลักของพิธีชงชา ไม่ได้อยู่ที่การดื่มชาเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของสุนทรียศาสตร์แห่งการดื่มด่ำในทุกอณูสัมผัสของวิถีแห่งชา โดยที่ผู้ชงจะเตรียมชาอย่างจริงใจและเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ การจัดบรรยากาศรอบตัว และการปฏิบัติอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน ทุกการเคลื่อนไหวล้วนคำนึงถึงจิตใจของอีกฝ่ายเป็นสำคัญ

ปรัชญาแห่ง วะ (ความกลมกลืน), เค (การเคารพ), เซ (ความบริสุทธิ์) และ จาคุ (ความสงบ)

  • วะ (和) คือ การแสดงออกถึงความกลมกลืนกับธรรมชาติ (Harmony) ดังจะเห็นได้จากการจัดวางเรื่องราวของพิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะห้องน้ำชาที่เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ สวนสวยที่รายล้อมรอบโรงน้ำชา อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่เน้นรูปร่างและสีสันให้ใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด
  • เค (敬) คือ การแสดงออกถึงความเคารพ (Respect) อาจจะดูเป็นพิธีรีตอง แต่การแสดงออกถึงความเคารพของแขก โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานภาพหรือตำแหน่งในชีวิต การโค้งคำนับก่อนผ่านประตูเข้าห้อง การคลานเข่าเมื่อเข้ามายังห้องน้ำชา การมีมารยาทต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะให้เกียรติซึ่งกันและกัน
  • เซ (精) คือ ความบริสุทธิ์ (Purity) ยกตัวอย่างเช่น การคลานเข่าเข้าไปยังห้องน้ำชา แสดงให้เห็นถึงการละทิ้งความคิด อคติ และความกังวลทั้งหมดที่แบกรับมาทั้งชีวิต วางไว้ข้างหลังแล้วก้าวเข้าสู่อีกจักรวาลที่ทุกอย่างเดินไปอย่างเชื่องช้าแต่สร้างความเพลิดเพลิน เพราะพิธีชงชาไม่ใช่แค่พิธีที่ทำสืบต่อกันมาก แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์
  • จาคุ (寂) คือ ความสงบ (Tranquility) อันเกิดมาจากแนวคิดที่ได้จากสามปรัชญาข้างต้น ได้แก่ ความกลมกลืน ความเคารพ และความบริสุทธิ์ ซึ่งนำมาสู่ประสบการณ์และการค้นพบเส้นทางที่จะนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดความสงบสุขของชีวิตในท้ายที่สุด

**หมายเหตุ: รูปแบบการจัดพิธีชงชามักจัดในห้องชงชาซึ่งเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อยที่แสดงวัฒนธรรมแบบ “วะ (Wa)” ของญี่ปุ่น เรียกการชงชาว่า “เทะมะเอะ (Temae)” ชาที่ใช้ชง โดยทั่วไปจะ มี 2 แบบ ได้แก่

  1. โคอิฉะ (Koicha) ชารสเข้ม นิยมชงในถ้วยใหญ่ ดื่มกันหลายคน จึงชงให้มีรสชาติเข้มข้นเป็นพิเศษ
  2. อุซุฉะ (Usucha) ชารสอ่อน นิยมชงในถ้วยเล็ก สำหรับดื่มคนเดียว โดยทั่วไปมักจะพบเห็นชาแบบนี้
japanese sake-46c565a3
รู้จัก ประเภทเหล้าญี่ปุ่น Photo from https://www.flickr.com/photos/inucara/4341063153 เวลาเรา...

♦ END ♦

♦ Written by Pok Safin ♦

ขอบคุณข้อมูล:

https://www.jnto.or.th/newsletter/sadou-japanese-tea-ceremony/

https://www.roughguides.com/article/a-rough-guide-to-the-japanese-tea-ceremony/

https://www.japan.travel/en/guide/tea-ceremony/

http://japanese-tea-ceremony.net/

https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_tea_ceremony

https://www.japan-guide.com/e/e2096.html

สามารถซื้อตั๋ว/กิจกรรม Tokyo ได้ที่ Klook

สามารถซื้อตั๋ว/กิจกรรม Kyoto ได้ที่ Klook

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต

ค้นหากิจกรรมบน Klook ได้เลยจากด้านล่างนี้!

ค้นหากิจกรรมบน Klook ได้เลยจากด้านล่างนี้!

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!

RELATED POST