ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

ข้อปฎิบัติเมื่อเจอแผ่นดินไหวระหว่างเที่ยวอยู่ญี่ปุ่น

eathquake

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ สึนามิ หรือแผ่นดินไหว เป็นสิ่งที่น่ากลัวและร้ายแรงต่อชีวิตของเราทุกคน แต่ปัจจุบัน เราก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ 100% ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ ก็มีแต่การเตรียมความพร้อม ทั้งด้านความรู้-ความเข้าใจและอุปกรณ์เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับสนิทและเป็นจุดที่มีการเกิดการเคลื่อนไหวของแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา แต่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมและลดการสั่นสะเทือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ตัวอย่างเช่น ระบบลดการสั่นสะเทือนใต้ตึกอาคารสูงต่างๆ เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ระบบนี้จะช่วยให้ตึกไม่ล้มลงมาง่ายๆเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้แก่ประชาชนทุกคนตั้งแต่วัยเด็กๆในการรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในประเทศและมีการกำหนดจุดรวมพลต่างๆทุกเขตทั่วประเทศ

เราในฐานะท่องนักท่องเที่ยว เราควรจะมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ด้วย อย่างน้อย เราควรจะรู้ว่าเราต้องปฏิบัติอย่างไร? หาที่หลบที่ไหน? เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและครอบครัว เพราะภัยธรรมชาติอาจจะเกิดเวลาที่เราเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศญี่ปุ่นก็ได้

วันนี้ผมได้สรุปหลักการและสิ่งที่ควรทำเบื้องต้น เมื่อเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นมาให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นระหว่างที่เราเดินทางอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

“รู้ไว้ก่อนล่วงหน้าจะช่วยลดการบาดเจ็บและการเสียหายครับ”

กรณีอยู่ในห้องที่โรงแรม

มุดใต้โต๊ะ

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องป้องกันตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยเฉพาะศีรษะ เราต้องมุดใต้โต๊ะไปก่อนเลยเมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นสะเทือน ไม่ว่าจะเป็นการสั่นสะเทือนขนาดเล็กหรือใหญ่ต้องปลอดภัยไว้ก่อนโดยการปกป้องตัวเองอยู่ใต้โต๊ะไม่ให้สิ่งของอื่นๆหล่นลงมาทับตัวเราได้

รูปภาพจาก https://creazilla.com/nodes/36492-family-is-seeking-protection-from-an-earthquake-clipart

สังเกตุช่องทางหนีภัย

เวลาเข้าพักที่โรงแรมเราควรจะสังเกตเส้นทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดจากห้องที่เราพัก เมื่อเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินเราจะได้ทราบว่าเราต้องเคลียร์ทางไปทางไหนเพื่อที่จะหนีออกไปได้เมื่อแผ่นดินไหวสงบลง โรงแรมที่ประเทศญี่ปุ่นทุกแห่งจะมีแผนที่ทางออกฉุกเฉินไว้ที่หน้าประตูห้อง บางที่มีทางออกฉุกเฉินจากระเบียงนอกห้องด้วย เมื่อเรารู้ทางออกที่ชัดเจนเราจะได้หนีออกได้เร็วที่สุดโดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้นทางออกของเรา

รูปภาพจาก https://www.tripadvisor.jp/LocationPhotoDirectLink-g298183-d1087857-i112728070-Hotel_Sunshine_Utsunomiya-Utsunomiya_Tochigi_Prefecture_Kanto.html

ปิดอุปกรณ์ที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้

อีกหนึ่งภัยอันตรายหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวคือเหตุการณ์ไฟไหม้หรือระเบิดที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในห้อง ฉะนั้น เมื่อเรารู้สึกมีการสั่นสะเทือนให้ถอดปลั๊กและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเพื่อเป็นการป้องกันภัยอันตรายภายหลัง โดยเฉพาะกาต้มน้ำและตู้เย็นในห้องพักที่โรงแรม

ออกห่างจากกระจก

รูปภาพจาก https://www.shorttutorials.com/earthquake-preparedness/dont-stand-near-glass-doors.html

ถ้ามีการสั่นสะเทือนมากจะทำให้กระจกนั้นแตกลงได้ง่าย เพื่อความปลอดภัยของตัวเรา ให้อยู่ห่างจากกระจกให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้กระจกนั้นกระเด็นมาใส่ตัวเราและบาดเจ็บได้นั้นเอง และเมื่อสถานการณ์สงบลง เราควรจะใส่รองเท้าก่อนที่จะหนีออกจากห้อง เนื่องจากจะมีเศษกระจกตกลงบนพื้นกระจายอยู่มาก และอาจทำให้เราบาดเจ็บสาหัสได้ถ้าเราตื่นตระหนกและประมาทจนลืมใส่รองเท้าป้องกันตัวเอง

หยิบไฟฉายฉุกเฉินติดตัว

อุปกรณ์ช่วยชีวิตอีกหนึ่งอย่างนั้นคือไฟฉายฉุกเฉิน ทุกห้องในโรงแรมที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีไฟฉายฉุกเฉิน หาได้ตามใต้โต๊ะทีวีหรือใต้โต๊ะข้างเตียง ให้สังเกตไว้ก่อนเลยว่าไฟฉายฉุกเฉินนี้อยู่ที่ไหน เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราสามารถดึงไฟฉุกเฉินนี้มาไว้กับตัวได้เลยเพื่อใช้ในการหาทางออกในกรณีที่ไฟดับเวลากลางคืนหรือเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือก็ได้

รูปภาพจาก https://www.jtb.co.jp/kokunai_hotel/htl/8715070/photo/

รอเสียงสัญญาณหนีภัย

พนักงานโรงแรมทุกที่ในประเทศญี่ปุ่นจะมีการฝึกฝนการหนีภัยอยู่เป็นประจำ เมื่อสถานการณ์สงบลงให้เรารอสัญญาหนีภัยจากเจ้าหน้าที่โรงแรมซึ่งอาจจะเป็นเสียงประกาศหรือเป็นเสียงสัญญาณดังทั้วโรงแรม สิ่งที่สำคัญเราไม่ควรจะตื่นตระหนกเพราะความวุ่นวายจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บตามมาจากการไม่รู้ทันเหตุการณ์

กรณีอยู่ในอาคารอื่นๆ

หาที่มุด

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวระหว่างที่เราอยู่ในอาคารอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ซุปเปอร์มาเก็ตหรือห้างสรรพสินค้า สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือหาที่มุดป้องกันตัว ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะเคาน์เตอร์ โต๊ะขายสินค้าต่างๆและควรที่จะอยู่ใต้โต๊ะจนกว่าการสั่นสะเทือนจะสงบลง

ป้องกันศรีษะ

ในกรณีที่บริเวณรอบตัวไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่เราสามารถมุดไปป้องกันตัวได้ ให้เราหาสิ่งอื่นๆรอบตัวที่สามารถคลุมป้องกันศีรษะและหมอบนั่งลงกับพื้น ตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตก็สามารถใช้ตะกร้าซื้อของคลุมหัวไว้ก่อนก็ได้หรือสินค้าอื่นๆที่ใหญ่และแข็งแรงพอที่จะคลุมศรีษะไว้ชั่วคราวเพื่อเป็นการลดการบาดเจ็บจากสิ่งของที่ล่วงลงมาใส่ตัว

รูปภาพจาก https://www.bbc.com/future/article/20190708-the-mystery-of-unexplained-earthquakes

ไม่ใช้ลิพท์

อาคารสูงในประเทศญี่ปุ่นล้วนแล้วมีระบบป้องกันการสั่นสะเทือนเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ควรที่จะใช้ลิฟท์ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวเพื่อการหนีหรือแม้แต่หลังแผ่นดินไหวก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ชั้น 30 หรือ 40 ที่สูงขึ้นไปอีก ก็ควรจะใช้บันไดทางออกฉุกเฉินในการหนีออกมาจากอาคารเมื่อการสั่นสะเทือนนั้นหยุดลง ในกรณีที่ติดอยู่ในลิฟท์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ตื่นตระหนกและกดปุ่มขอความช่วยเหลือ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภายนอก

รูปภาพจาก https://pxhere.com/en/photo/1061275

กรณีอยู่ข้างนอก

ออกห่างจากตึกสูง

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวระหว่างที่เราเดินอยู่ตามท้องถนน เราต้องออกให้ห่างที่สุดจากตึกสูง ไม่ใช่เพราะว่าตึกนั้นจะลงมาทับแต่อาจจะมีส่วนต่างๆของตึกรวมถึงอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ในตึกที่อาจหล่นลงมาทับใส่ตัวเราได้ แม้แต่เศษกระจกก็อันตรายเพียงพอที่จะทำให้เราบาดเจ็บรุนแรง

รูปภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Fukuoka_Earthquake_20050320_Maruzen.jpg

ป้องกันศีรษะ

เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งต่างๆที่อาจจะร่วงตกลงมาจากตึกรวมถึงเศษแก้วกระจก เราควรหาอุปกรณ์รอบตัวมาคลุมศีรษะ อาจจะเป็นเสื้อสูทหรือแม้แต่รองเท้าที่เราใส่ก็สามารถเป็นเครื่องป้องกันศีรษะอย่างดีได้ในเวลาฉุกเฉินแบบนี้

กรณีอยู่ใกล้ทะเล

หนีขึ้นที่สูง

ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่เป็นเกาะใหญ่กลางทะเลซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดสึนามิหรือคลื่นยักษ์ใหญ่ซัดเข้าฝั่งหลังจากเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเรารู้สึกว่าการสั่นสะเทือนนั้นสงบลงและสามารถทรงตัววิ่งได้ ให้รีบหาทางขึ้นที่สูงไว้ก่อน ในทุกเขตจะมีจุดหนีภัยสึนามิและเส้นทางเดิน ให้สังเกตคนญี่ปุ่นรอบข้างว่าคนส่วนใหญ่หนีขึ้นไปทางไหนและให้ปฏิบัติตามนั้น หรือหนีขึ้นอาคารที่สูงกว่า 3 ชั้น โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์ตามรูปด้านล่าง ตึกอาคารที่สามารถขึ้นไปหลบภัยได้จะมีป้ายนี้ติดอยู่

www.flickr.com/photos/maynard/24204452261/

กรณีอยู่บนรถไฟ

หาที่จับ

รูปภาพจาก http://www.city.urayasu.lg.jp/area/bousai/01/05.html

ด้วยการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรวมถึงรถไฟอาจมีการเบรกฉุกเฉิน ก่อนอื่นเราต้องหาที่จับให้แน่นตามเสาที่จับในตู้รถไฟ ประคองตัวให้มั่นคงเพื่อป้องกันการล้มและบาดเจ็บจากการกระแทก

นั่งลง

รูปภาพจาก http://www.city.urayasu.lg.jp/area/bousai/01/05.html

ถ้ามีพื้นที่ว่างพอ ให้นั่งลงกับพื้นเลย การบาดเจ็บหลายครั้ง เกิดจากการที่ผู้คนล้มลงและกระแทกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆภายในรถไฟ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บนี้ให้น้อยที่สุด เราต้องนั่งลงและหมอบจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ป้องกันศรีษะ

รูปภาพจาก http://www.town.ogose.saitama.jp/kurashi/bousai_bouhan_kotsuanzen/bousai/wagaya/1453290416299.html

ถ้าเรามีกระเป๋าติดตัวมาด้วยให้ใช้กระเป๋านั้นคลุมศีรษะเพื่อป้องกันสิ่งของที่อาจจะตกลงมาจากชั้นวางของภายในตู้รถไฟ หรือถ้าไม่มีกระเป๋าใดๆติดมาให้ใช้มือคุ้มกันศีรษะไว้ได้เช่นกัน

กรณีอยู่บนรถ

นั่งอยู่ในรถ

ถ้าเราขับรถเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นและเกิดแผ่นดินไหวระหว่างนั้น เราควรจะนั่งอยู่ในรถตลอดจนกว่าการสั่นสะเทือนจะสงบลง หลังคารถจะเป็นที่ป้องกันให้เราปลอดภัยจากสิ่งต่างๆที่อาจจะร่วงลงมาใส่ตัวเราได้ดี เราควรตั้งสติให้ดี ไม่ตื่นตระหนกและหนีออกจากนอกรถอย่างเด็ดขาดจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

เปิดวิทยุ

เปิดสัญญาณวิทยุเพื่อ Update สถานการณ์และข่าวสารต่างๆ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการประกาศจากทางวิทยุและสื่อสารสนเทศทุกช่อง ไม่ว่าจะมีสัญญาณหรือไม่ ก็ให้เปิดวิทยุไว้ก่อนเพื่อให้เราได้ทันกับสถานการณ์

ไม่ล๊อกกุญแจรถ

เมื่อมีคำชี้แจงให้เราออกจากรถได้เพื่อไปยังที่พักพิงชั่วคราว ให้เราทิ้งกุญแจรถไว้และไม่ล็อครถอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ใช้รถในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคนอื่นๆในบริเวณนั้นหลังจากสถานการณ์สงบลง

รูปภาพจาก https://www.chubu-furusato-tottori.jp/8290

สิ่งที่ควรมีติดตัวตลอด

หนังสือเดินทาง

เพื่อเป็นการแสดงตัวตน เราควรจะถือหนังสือเดินทางของเราไว้ตลอดเวลา และในหนังสือเดินทางของเรานั้น อย่าลืมกรอกรายละเอียดหน้าหลังสุดให้ครบเพื่อความสะดวกในการติดต่อภายหลัง

เครื่องมือสื่อสาร

แน่นอนเครื่องมือสื่อสาร โดยเฉพาะโทรศัพท์เป็นอีกอุปกรณ์ที่ควรมีติดตัวไว้ตลอดเพื่อเป็นการขอความช่วยเหลือและติดต่อสื่อสารกับทางการให้ได้ง่ายขึ้น

เบอร์สถานทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น

อีกข้อสำคัญนั่นคือเราควรจะมีเบอร์โทรศัพท์ของสถานทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นไว้ในโทรศัพท์ของเรา เวลาที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตได้ง่ายแม้แต่เวลาที่เราไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตในการหาข้อมูล  สัญญาณโทรศัพท์ของประเทศญี่ปุ่นยังสามารถใช้งานได้แม้แต่โทรศัพท์สาธารณะก็สามารถใช้ได้ฟรีในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน

เบอร์ติดต่อปัจจุบัน 03 5789 2433

http://site.thaiembassy.jp/th/

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Ammer
สวัสดีครับ ผมแอมเมอร์ ครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Nanzan University ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นกว่า 7 ปี อดีต เป็นพนักงานต้อนรับบนเรื่องบินและบินเส้นทางญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ ประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัจจุบันทำงานเป็นให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง นอกเหนือจากงานเขียนบน OhHoTrip ยังมีผบงานเขียนหนังสือออนไลน์ เรียน"ญี่ปุ่น" ยังไงให้รอด และช่อง Youtube เกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถ้าชอบ Blog ที่ผมเขียน ช่วยกด LIKE กดแชร์ด้วยนะครับ :) https://www.youtube.com/c/Ammerkongtangjitt-japan
RELATED POST
ohho-hokuriku-event-19feb23-419341b2
ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

เปิดโลกทำ ความรู้จักกับสามจังหวัดของภูมิภาคโฮคุริคุ มนต์เสน่ห์ที่ซ่อนเร้นของแดนอาทิตย์อุทัย ต้อนรับชินกันเซนสายใหม่ Hokuriku Shinkansen

19/02/2023
คำแนะนำสไตล์การท่องเที่ยวญี่ปุ่น 100 แบบ

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!