ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

วัฒนธรรมญี่ปุ่น VS วัฒนธรรมตะวันตก

หัวข้อที่เกี่ยว
|
jp vs wes-ae1e8bcc

การเข้าหาคน 

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่น ปกติแล้วเป็นคนขี้อายและสุภาพมาก เวลาที่คนญี่ปุ่นพบกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็จะไม่ค่อยกล้าเข้าไปทักทายและทำความรู้จักด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นอีกฝ่ายที่เข้ามาพูดคุยก่อน ยิ่งถ้าอีกฝ่ายเป็นชาวต่างชาติ ก็จะทำให้คนญี่ปุ่นยิ่งเก็บตัว ไม่กล้าที่จะเข้าไปคุยมากขึ้น 

ในลักษณะเดียวกัน คนญี่ปุ่นจะรู้สึกกลัวและแปลกๆ เวลาคนไม่รู้จักกัน มาทำเหมือนเป็นเพื่อนกันมานาน แล้วตีสนิทด้วยเหมือนชาวตะวันตก คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะถอยหลังหนึ่งก้าว แล้วตีห่างออก เพราะการเข้าหาคนแบบกระทันหันไม่ใช่วัฒนธรรมที่เขาชิน 

ฉะนั้น เวลาเข้าหาคนญี่ปุ่นเมื่อเจอกันครั้งแรก เราต้องให้ space เขา เพื่อให้เขาปรับตัวและรู้สึกสบายใจก่อนที่จะเข้าทำความใกล้ชิดครับ 

วัฒนธรรมตะวันตก

การพบเจอผู้คนใหม่ๆและสร้างเพื่อนใหม่อยู่เสมอเป็นสิ่งที่คนชาติตะวันตกเคยชินและทำกันอยู่เป็นประจำโดยไม่รู้สึกแปลกใดๆ ถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แค่เพียงพูดคุยทักทายเล็กน้อย ก็สามารถพัฒนาการสนทนาไปอีกระดับและเป็นเพื่อนกันได้เร็ว 

ด้วยพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเปิดรับวัฒนธรรมและผู้คนใหม่ๆอยู่เสมอ ทำให้การเข้าหาคนไม่เป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะมีการเดินทางไปที่ไหนๆถ้าต้องทำความรู้จักกับใคร ชาวตะวันตกจะกล้าถาม กล้าเข้าหาคนได้มากกว่าชาวญี่ปุ่น 

สังเกตุง่ายๆจากการทักทายเบื้องต้น ชาวตะวันตกจะใช้วิธีการจับมือหรือหอมแก้ม แสดงถึงความใกล้ชิดและเป็นมิตรต่อกันและกัน ในทางกลับกัน คนญี่ปุ่นใช้วิธีการเว้นระยะและโค้งคำนำต่อกันและกัน แสดงถึงการให้ความเคารพต่อพื้นที่ส่วนตัวแก่กันและกัน

Photo by https://www.piqsels.com/en/public-domain-photo-jtlgk

อิสรภาพในการออกความคิดเห็น

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

ถ้ามีการเปิดการเจรจาหรือ discussions ในบริษัทหรือในคลาสเรียน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนั่งเงียบและรอคนอื่นพูดอะไรก่อนที่ตัวเองจะเสนอความคิดเห็นออกมา คนญี่ปุ่นหลายคนไม่กล้าออกความคิดเห็น เพราะกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองพูดไปนั้นจะไม่ถูกต้องและไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ จึง play safe นั่งเงียบ อีกหนึ่งเหตุผลส่วนใหญ่คือ ไม่อยากต้องรับผิดชอบกับขอเสนอที่ตัวเองพูดไป 

ถ้าประธานในที่ประชุมหรืออาจารย์ในห้องเรียนไม่ถามเป็นรายบุคคล คนญี่ปุ่นก็จะนั่งเงียบ รอรับฟังความคิดเห็นคนอื่นมากกว่าที่จะยกมือขึ้นแล้วแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างอิสระ ด้วยความที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมการยอมรับในส่วนรวม จึงทำให้คนญี่ปุ่นมักจะปฏิบัติตามคนรอบข้างมากกว่าที่จะเปิดตัวเองออกมา จะไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเหมือนคนชาติตะวันตก เพื่อให้ตัวเองไม่เด่นและเป็นที่ยอมรับในส่วนรวม

แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาของประเทศญี่ปุ่นสมัยใหม่ ได้มีการฝึกให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และกล้าที่จะออกความคิดเห็นต่อหน้าผู้คนมากขึ้น 

วัฒนธรรมตะวันตก

ชาวตะวันตกมีความมั่นใจในตัวเองสูงและกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ยิ่งถ้ามีการเปิด discussions ไม่ว่าจะเป็นในบริษัทหรือในห้องเรียน จะมีหลายคนเสนอความคิดเห็นมามากมาย จนหาข้อสรุปไม่ได้เลยทีเดียว เพราะต่างคน ต่างอยากให้ความคิดเห็นตัวเองนั้นเป็นหลักและได้รับเลือก

ด้วยพื้นฐานที่ชาติตะวันตกเป็นวัฒนธรรมเปิดและมีการทำการค้าขายกับต่างชาติมากมายตั้งแต่อดีตมากกว่าประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ทุกคนมีความมั่นใจในตัวเองและกล้าที่จะพูดเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง และอยากจะให้ความคิดเห็นของตัวเองนั้นเป็นที่ยอมรับในส่วนรวมซึ่งตรงกันข้ามกับคนญี่ปุ่นหลายคน  

Photo by ttps://pixabay.com/ja/photos/人々の議論-会議-5069845/

ความเป็นเด่น 

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่รักความสงบ ถ้าเพื่อนส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีขาวมาโรงเรียน เขาก็จะใส่สีขาวมาโรงเรียน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับว่าเราเหมือนกัน การทำงานก็จะมีลักษณะเดียวกัน พนักงานบริษัทญี่ปุ่นจะปฎิบัติตามอะไรที่รุ่นพี่หรือคนในบริษัทนั้นทำมาแล้ว จะไม่ทำตัวให้ต่างหรือเด่นจากผู้อื่นรอบข้าง

การเป็นที่ยอมรับในสังคมเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นคำนึงถึงอยู่เสมอตั้งแต่สมัยเรียน คนญี่ปุ่นจะมีความภูมิใจมากถ้าตัวเองเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีชื่อเสียง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นนักเรียนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว คนนั้นก็จะยืดอกได้ ถ้าเป็นพนักงานที่บริษัทชื่อดังของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอะไรก็ตาม ก็จะอวดเพื่อนได้ 

ความเป็น Team work ของชาวญี่ปุ่นจึงมีความโดดเด่นมาก เพราะทุกคนให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี เห็นได้จากนักกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่นที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬาประเภทหมู่อยู่เสมอๆ 

วัฒนธรรมตะวันตก

ในทางตรงกันข้าม ชาวตะวันตกชอบสรรหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองต่างจากผู้อื่น ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ก็จะหากิจกรรมอะไรที่ทำให้ตัวเองนั้นได้ spot light เพราะพวกเขาชอบในความแตกต่างและมีความทะเยอทะยานที่จะเป็นที่หนึ่งในสังคม พนักงานบริษัทก็จะพยายามหาจุดเด่นของตัวเองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ลักษณะการใช้ชีวิต รสนิยม เป็นต้น การทำเหมือนคนอื่นๆโดยทั่วไป ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมตะวันตกมากนัก

สังคมชาติตะวันตกเปิดให้ทุกคนแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ เวลามีการพูดคุยออกความคิดเห็นหรือเสนอผลงาน ชาวตะวันตกจะสามารถหาไอเดียแปลกใหม่มาได้เสมอ เพราะทุกคนอยากเป็นคนเด่นในกลุ่มที่ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้ความก้าวหน้าทางการงานนั้นเร็วขึ้นเช่นกัน ถ้าคนนั้นมีผลงานที่โดดเด่นต่างจากคนอื่นๆก็จะได้เลื่อนขั้นเร็วขึ้น 

Photo by https://pixabay.com/ja/vectors/ユニークな-目立つ-異なる-2032274/

Lady First และความเท่าเทียมกัน

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางสังคมเป็นอย่างมาก สังเกตได้ว่าเราจะเห็นผู้นำผู้หญิงน้อยมากในองค์กรญี่ปุ่นโดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นมีความเป็น Lady first น้อยกว่าวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด 

เวลาขึ้นลิฟท์ น้อยมากที่จะเห็นสุภาพบุรุษให้ทางสุภาพสตรีก่อนที่ญี่ปุ่น น้อยมากที่จะเห็นผู้ชายให้ทางผู้หญิงก่อนเวลาเข้าร้านอาหาร ถ้าสาวๆต้องการแฟนที่มีความโรแมนติก หนุ่มญี่ปุ่นอาจจะไม่ตอบโจทย์มากนัก แม้แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นเอง ก็หลงไหลหนุ่มตะวันตกในเรื่องความเป็น Lady first เช่นกัน

วัฒนธรรมตะวันตก

ความเป็นสุภาพบุรุษในสังคมตะวันตกเป็นคุณค่าพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนต้องการ การให้ความใจดีและสุภาพต่อสุภาพสตรีเป็นเรื่องปกติของหนุ่มๆตะวันตกทุกคน เพราะถ้าไม่ทำ อาจจะหาคู่ไม่ได้เลยทีเดียว เราจะเห็นผู้ชายคอยให้ทาง ให้ความช่วยเหลือแฟนเขาอยู่เสมอ Lady first เป็นเรื่องปกติมากที่ทุกคนคำนึกในชาติตะวันตก

เมื่อมองดูจากภาพกว้างในสังคมตะวันตก จะเห็นได้ชัดว่ามีความเท่าเทียมกันมากกว่าญี่ปุ่น องค์กรมีสีสันในเรื่องของเพศและชนชาติมากกว่า ผู้นำหลายคนก็เป็นผู้หญิงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น ผู้นำของนิวซีแลนและเยอรมันก็เป็นผู้หญิงที่สร้างผลงานโดดเด่นมากในปัจจุบัน

Photo by https://www.youngisthan.in/history/ladies-first/44130

วัฒนธรรมการให้ติ๊บ 

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นไม่มีระเบียบการให้ทิป แต่จะมีการคิดค่าบริการหรือที่เรารู้จักกันว่า service charge ทุกครั้งเวลาเข้าร้านอาหารที่มีพนักงานเสริฟ อัตราค่าบริการนี่อยู่ที่ 10% ต่อรอบบิล แต่อย่างไรก็ตามค่าบริการนี้ไม่ได้ถูกแบ่งมาให้พนักงาน เหมือน service charge ที่ประเทศไทย พนักงานบริการที่ญี่ปุ่นจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างรายชั่วโมงเท่านั้น 

เวลาคนญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศก็จะงงๆกับระบบการให้ทิปนี้ เพราะว่าคนญี่ปุ่นไม่มีไอเดียว่าจะต้องให้เท่าไร อะไรอย่างไร แม้แต่ พนักงานขนกระเป๋าที่โรงแรม คนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ให้ทิป หรือให้ในจำนวนที่น้อยเป็นเศษเงิน 

วัฒนธรรมตะวันตก

การจ่ายทิปในชาติตะวันตกเป็นเรื่องปกติในทุกงานบริการ ตั้งแต่ ร้านอาหาร บาร์ จนถึงระดับโรงแรม หลักการง่ายๆคือ ต้องจ่ายทิปเงินสดให้พนักงานประมาณ 10% ของราคารวมในบิลนั้น ถ้าเป็นการบริการยกกระเป๋าหรืออย่างอื่นที่ไม่มีบิลมาก่อน ก็จะให้เป็นแบงค์ย่อยแก่พนักงาน 

การให้ทิปเป็นเหมือนมรรยาททางสังคมที่ทุกคนต้องปฎิบัติอยู่แล้ว เพราะพนักงานเองก็คาดหวังจะได้รายได้เพิ่มจากตรงนี้ นอกเหนือจากเงินค่าจ้าง เหมือนเป็นค่ากระตุ้นความขยัน ที่ยิ่งทำงานมาก บริการดี ลูกค้าพอใจก็จะได้ทิปของตัวเองมากขึ้น เพิ่มเติมจากค่าจ้างปกติ ใครที่ไม่ให้ทิปจะถูกมองแปลกๆเลยก็ได้

Photo by https://www.publicdomainpictures.net/en/view-image.php?image=167905&picture=tip

สกินชิพ 

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

สกินชิพ หรือการกอด การหอมแก้ม เป็นอะไรที่คนญี่ปุ่นไม่ชินเลย คนญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมในการใกล้ชิดเหมือนชาติตะวันตก ตั้งแต่การทักทาย เราจะให้ว่าคนญี่ปุ่นให้เกรียติแก่ฝ่ายตรงข้าม โดยการเว้นระยะห่างประมาณ 1 เมตรและโค้งคำนับทักทาย ซึ่งวิธีนี้เป็นธรรมเนียมที่คนญี่ปุ่นปฎิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ชินกับการเข้าใกล้ชิด แม้แต่การจับมือทักทาย ก็จะไม่ได้กำกระชับแน่นเหมือนชาวตะวันตก ขนาดเพื่อนที่สนิทกัน น้อยครั้งที่จะเห็นชาวญี่ปุ่นมีการกอดทักทายกัน 

กล่าวได้ว่า ชาวญี่ปุ่นมีความเป็นส่วนตัวสูง ทุกคนจะให้ความเคารพใน “space” ของแต่ละคน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของคนญี่ปุ่นจะห่างเหิน ไม่มีใครก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของกันและกัน ยิ่งถ้าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานที่บริษัท ก็จะยิ่งห่างเหิน ไม่มีความสนิทสนม เราแทบจะไม่ต้องพูดถึงสกินชิพเลย 

วัฒนธรรมตะวันตก

วัฒนธรรมตะวันตกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างบุคคลมาก ยกตัวอย่างเช่น การจับมือกันเพื่อการทักทายของชาติตะวันตก จะจับมือกันอย่างกระชับเพื่อแสดงความจริงใจและยินดีที่ได้รู้จักต่อกันและกัน ยิ่งถ้าเป็นชาติยุโรป เมื่อสุภาพบุรุษได้ทำความรู้จักกับสุภาพสตรี ไม่ว่าจะเป็น Private หรือทางการงาน การทักทายที่เหมาะสมคือการนำแก้มมาชนกัน 1 ครั้ง ที่ประเทศตุรกี ทั้งสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษนิยมหอมแก้มกัน ซ้ายขวาในการทักทาย 

ความใกล้ชิดหรือสกินชิพของชาติตะวันตกนั้นมีความชัดเจนมากกว่า สื่อถึงการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆและพร้อมที่จะทำความรู้จักคนใหม่ๆ ถ้าคนไหนที่ทำท่าทางออกห่าง โดยไม่แสดงความสัมพันธ์ที่ดีโดยการใช้สกินชิพไม่ว่าจะวิธีใดๆ ก็จะถูกมองในทางกลับกันว่า เป็นคนที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีไปเลย 

Photo by https://www.istockphoto.com/th//ภาพถ่าย/japanese-greeting

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผู้ใหญ่ถือเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิสูง เราต้องให้ความเคารพและนับถือ โดยไม่ถือตัวเข้าไปอยู่ในระดับเดียวกัน ลักษณะคล้ายกับวัฒนธรรมของไทย ที่ต้องมีการไหว้เคารพผู้ใหญ่อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวหรือที่ทำงาน ในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีภาษาสุภาพที่ต้องใช้เสมอเวลาพูดกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ รวมถึงเจ้านายในองค์กร 

ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยและผู้ใหญ่นั้นมีความห่างกันพอควร เราจะไม่ค่อยเห็นเจ้านายและลูกน้องไปสังสรรค์กันอย่างเป็นมิตร มักจะเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในแผนกที่จะต้องคอยให้บริการและให้เกียรติรุ่นพี่หรือเจ้านายอยู่เสมอ คนที่ให้ความเคารพและทำตามมารยาททางสังคมที่ถูกต้อง ก็จะได้รับการชื่นชมจากผู้สูงอายุอยู่เสมอ ส่งผลให้คนอายุน้อยต้องรู้สึกเกรงใจ และบางครั้งอาจส่งผลถึงการไม่กล้าถาม ไม่กล้าออกความคิดเห็น หรือขัดแย้งใดๆต่อคำพูดหรือคำสั่งของเจ้านายหรือรุ่นพี่เลย 

วัฒนธรรมตะวันตก

ชาติตะวันตกมีความใกล้ชิดระหว่างบุคคลกันมากกว่า ด้วยภาษาที่ใช้ในชาติตะวันตกส่วนใหญ่ รวมถึงภาษาอังกฤษ ไม่มีการแบ่งชั้นระดับของการใช้ภาษาระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ เราจะเห็นได้ว่ามีการสังสรรค์ระหว่างเจ้านายและลูกน้องอย่างเป็นมิตรเหมือนเป็นเพื่อนกันอยู่เสมอ ครอบครัวเอง พ่อแม่ก็เหมือนเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของลูกๆทุกคน ในองค์กรทุกคนก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการออกความคิดเห็น กล้าพูด กล้าขัดแย้งเมื่อมีความจำเป็น

สังเกตได้ง่ายๆว่าในช่วงวันคริสต์มาสของทุกปี จะมีการรวมกลุ่มของครอบครัวทุกคนอยู่เสมอ แสดงถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของคนในชาติตะวันตกที่ไม่ถือว่าผู้ใหญ่จะต้องอยู่สูงหรืออยู่เหนือเราตลอด แต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์คอยให้ความไว้วางใจและให้ความอบอุ่นแก่ผู้น้อย ในองค์กรของชาติตะวันตกก็จะมีการจัดงานเลี้ยงประจำปีในช่วงคริสต์มาสเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็จะมาเลี้ยงฉลองเหมือนเป็นเพื่อนกันเพื่อสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในองค์กรเหมือนกับคนในครอบครัว 

Photo by https://www.flickr.com/photos/edsel_/32450637738

การตรงต่อเวลา

วัฒนธรรมญี่ปุ่น

ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็ต้องพูดถึงเรื่องการตรงต่อเวลา เวลาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องคำนึงและรักษา ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลามาก สังเกตจากตารางเวลาของรถไฟก็จะมีการบอกถึงเวลา นาทีที่ชัดเจน หากการเดินรถไฟมีการคาดเคลื่อนของเวลา ทางบริษัทรถไฟจะต้องมีการประกาศขอโทษผู้โดยสารทุกคนในการทำให้ล่าช้า ไม่ว่าจะมีการจัดประชุมใดๆทั้งในหรือนอกองค์กร ทุกคนก็จะมาก่อนเวลาประชุมอย่างน้อย 5 นาทีเสมอ 

การตรงต่อเวลาของชาวญี่ปุ่นทำให้การดำเนินงานต่างๆเป็นไปตามกำหนดการอย่างดี ทุกคนทราบว่าต้องทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย และตรงต่อเวลา ถ้ามีเหตุการณ์ใดที่ต้องทำให้เกิดการล่าช้า คนญี่ปุ่นก็จะสำนึกผิดเป็นอย่างมากและต้องขออภัยอย่างจริงจัง แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งคุณค่าต่อการรักษาเวลาของคนญี่ปุ่นนี้ไม่สามารถหาได้ที่ไหนในวัฒนธรรมอื่นจริงๆ 

วัฒนธรรมตะวันตก

เวลาเป็นสิ่งมีค่าของทุกวัฒนธรรมเช่นกัน แต่วัฒนธรรมตะวันตกก็ยังมีความยืดหยุ่นสูงในเรื่องของการรักษาเวลาอยู่บ้าง นอกเหนือจากงานประชุมสำคัญต่างๆ ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะไม่เคร่งกับการรักษาเวลาเท่ากับคนญี่ปุ่น มีมาสายบ้างอยู่บ่อยๆ 5-10 นาที ก็ยังเป็นที่ยอมรับของทุกคนได้บ้าง แต่ถ้ามาสายนานกว่านั้น อันนี้ก็ยังคงถือว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบเช่นกัน

วัยรุ่นหลายคนในชาติตะวันตกไม่ได้ใส่ใจกับการรักษาเวลามากนัก แม้แต่การเข้าเรียนก็จะเห็นได้ว่ามีหลายคนมาสายบ้างเป็นเรื่องปกติ ยิ่งถ้าอยู่ในวัฒนธรรมที่ไม่มีการเร่งรีบ บางทีการมาสายกว่า 30 นาที ก็ไม่ใช่ปัญหาของวัฒนธรรมตะวันตกบางแห่ง อย่างไรก็ตาม เวลานัดหมายกับคนชาติตะวันตกก็ต้องกระชับในเรื่องของเวลาให้ดีก่อน เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เสียเวลารอคอยกันและกัน 

Photo by https://www.flickr.com/photos/gdsteam/14064124635

Cover2
วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศญี่ปุ่นวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศญี่ปุ่น เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าประเทศญี่ปุ่น...
drink-43a6f1c0
รู้จักวัฒนธรรมการดื่มของคนญี่ปุ่นการดื่มสังสรรค์เป็นการกระชับสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้...
ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Ammer
สวัสดีครับ ผมแอมเมอร์ ครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Nanzan University ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นกว่า 7 ปี อดีต เป็นพนักงานต้อนรับบนเรื่องบินและบินเส้นทางญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ ประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัจจุบันทำงานเป็นให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง นอกเหนือจากงานเขียนบน OhHoTrip ยังมีผบงานเขียนหนังสือออนไลน์ เรียน"ญี่ปุ่น" ยังไงให้รอด และช่อง Youtube เกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถ้าชอบ Blog ที่ผมเขียน ช่วยกด LIKE กดแชร์ด้วยนะครับ :) https://www.youtube.com/c/Ammerkongtangjitt-japan
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!