ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศญี่ปุ่น

หัวข้อที่เกี่ยว
|
Cover2

วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศญี่ปุ่น

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำอุตสาหกรรมของโลกระดับ G-7 (“Group of Seven” industrialized nations) ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นได้ชัดจากส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิกและธุรกิจยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่าเป็นอันดับ 1 ของโลก

แต่ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมอันงดงาม จริงอยู่ว่าขนบธรรมเนียมหลายๆอย่างก็จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง การเปิดรับสิ่งใหม่ๆจากนานาประเทศให้เข้ามามีบทบาทในสังคม อาจทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอันหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงอย่างนั้น ‘เรา’ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ‘นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่น’ ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่สอดแทรกเข้ามา เป็นวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งและเชิดหน้าชูตา ชนิดที่เพียงแค่พูดชื่อก็รู้กันแล้วว่านี่คือ ญี่ปุ่น

แล้วมันมีอะไรบ้างและเกี่ยวข้องกับอะไรบ้างนะ? วันนี้เราลองมาค้นดูไปด้วยกัน;

++++++++++++++++++++

1. คนญี่ปุ่น

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนญี่ปุ่นนั้นมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนมากโดยเฉพาะความมีระเบียบวินัย ซึ่งเรามักจะเห็นได้จากการเข้าแถวรอรถไฟที่ยาวเหยียดโดยปราศจากการแซงคิว หรือแม้แต่ในยามวิกฤติ เช่น เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ เราก็ยังคงเห็นผู้ประสบภัยยืนเข้าแถวรอรับถุงยังชีพอย่างเป็นระเบียบ ฯลฯ ส่วนวินัยด้านอื่นๆ เช่น การใช้บันไดเลื่อน การตรงต่อเวลา การรักษาความสะอาด ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นถูกจดจำในด้านดีอยู่เสมอ อย่างเช่นในฟุตบอลโลก ปี 2018 ที่รัสเซีย มีคลิปที่บันทึกโดยชาวต่างชาติซึ่งประทับใจเมื่อได้เห็นกองเชียร์ญี่ปุ่นช่วยกันเก็บขยะตามสแตนด์เชียร์หลังจบเกม

นอกจากนั้น ภาพของความอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ถูกบันทึกในความทรงจำของคนชาติอื่นที่มีต่อคนญี่ปุ่นไปแล้วเช่นกัน ทั้งการโค้งคำนับในทุกๆโอกาส หรือการให้หรือรับของด้วยสองมือ เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ดูน่ารักน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

++++++++++

2. ศาสนาสะท้อนชีวิต

วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเกิดจากความเชื่อที่คละเคล้าระหว่างศาสนาชินโตที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตและจิตวิญญาณของสรรพสัตว์บนโลก กับศาสนาพุทธ(นิกายเซน)ที่เน้นแนวคิดเกี่ยวกับผู้คนและชีวิตหลังความตาย เคยมีคนพูดติดตลกว่า “คนญี่ปุ่น 80% นับถือชินโต และอีก 60% นับถือศาสนาพุทธ”

ซึ่งอิทธิพลของศาสนาจะถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของพิธีกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ที่เห็นได้เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น และปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้มาเยี่ยมชม เช่น วัดวาอาราม (พุทธ) และ ศาลเจ้า (ชินโต) ฯลฯ นอกจากนั้น เครื่องรางของขลังต่างๆ ซึ่งเป็นของฝากยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตอันเชื่อมโยงกับศาสนาของคนญี่ปุ่นได้ชัดเจนอีกเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่ญี่ปุ่นไม่ได้บรรจุวิชาศาสนาเข้าไว้ในแบบเรียน ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงกันในชีวิตประจำวัน และไม่ได้นำความเชื่อทางศาสนามาตัดสินความดีงามของผู้อื่น แต่ชีวิตพวกเขาจะเชื่อมโยงกับพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายของชีวิต มีเทศกาลมากมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาให้ได้มีส่วนร่วมตลอดปี

++++++++++

3. วัฒนธรรมแห่งอาหาร

ถ้าให้โหวตอาหารยอดนิยมของคนทั่วโลก เชื่อว่าอาหารญี่ปุ่นต้องติดอันดับต้นๆที่ผู้คนจะนึกถึง เพราะนอกจากรสชาติอูมามิแบบไม่ซ้ำใครแล้ว สิ่งที่ทำให้หลายคนติดใจคงหนีไม่พ้นเรื่องของความพิถีพิถันในทุกองค์ประกอบราวกับว่าอาหารแต่ละจานคืองานศิลปะชิ้นเอก ไม่เว้นแม้แต่อาหารจานง่ายๆก็ตาม

ถึงแม้อาหารญี่ปุ่นจะรสชาติดีมีเอกลักษณ์ที่ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่เมนูที่คนส่วนใหญ่นึกออกก็คงหนีไม่พ้น “ซูชิ” ทั้งที่จริงๆแล้ว ยังมีเมนูอีกมากมายที่น่าเสียดายหากไม่ได้ลิ้มลองดูสักครั้ง ยกตัวอย่างเช่น;

  • เมนูข้าว: ข้าวญี่ปุ่นหุงร้อนๆหอมนุ่มละมุนลิ้น กินกับอะไรก็อร่อย! นอกจากจะถูกเสิร์ฟมาพร้อมกับซูชิแล้ว ยังมีเมนูข้าวรสเยี่ยมอีกมากมาย เช่น ดงบุริ (ข้าวหน้าต่างๆ), โอนิกิริ (ข้าวปั้น), โอชาสึเกะ (ข้าวราดน้ำชา) เป็นเมนูพื้นบ้านที่อาจจะไม่คุ้นหู มักกินคู่กับปลาต่างๆ เช่น ปลาแซลม่อนย่างเกลือ เป็นต้น
  • อาหารท้องถิ่นและตามฤดูกาล: ซึ่งจะว่าไปแล้ว อาหารท้องถิ่นนั้นมีมากมายหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น สาหร่ายทะเล เห็ด ปลาหลากชนิด แต่ถ้าพูดถึงอาหารท้องถิ่นจานดังก็มีอย่างเช่น “ไคเซกิ เรียวริ (อาหารชุด)” ประกอบด้วยเมนูต่างๆ 12 ชนิด ปรุงจากวัตถุดิบตามฤดูกาล จัดวางในถ้วยเล็กๆแล้วเสิร์ฟพร้อมกัน หาทานได้ที่เกียวโต และ “โอโคโนมิยากิ หรือ พิซซ่าญี่ปุ่น” ซึ่งดังมากที่ฮิโรชิม่าและโอซาก้า โดยเฉพาะที่ฮิโรชิม่าถึงขั้นมี “โอโคโนมิมูระ หรือ หมู่บ้านโอโคโนมิยากิ” เลยทีเดียว
  • เมนูปลา: นับว่าเป็นวัตุดิบหลักๆของอาหารญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ซึ่งการทานปลานั้นแบ่งออกได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เรียกว่า “โอโดริกุอิ” (ปลาเล็กๆทานเป็นๆยังดิ้นได้), “ซาชิมิ” (ปลาดิบ), “ยากิ” (ย่าง), “เทมปุระ” (ทอดสุก)
  • เมนูเนื้อ: สำหรับมีทเลิฟเวอร์ทั้งหลาย น้อยคนนักจะไม่รู้จัก “เนื้อโกเบ” เนื้อจากวัวที่เลี้ยงในบรรยากาศแสนสุข ทำให้ได้เนื้อรสเลิศ นุ่มละมุนละลายในปาก จะมาแบบปิ้งย่าง ชาบู หรือเมนูไหน “เนื้อโกเบ” ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
  • เมนูทานเล่น: เช่น ทาโกะยากิ หรือแป้งโมจิ ก็เป็นของกินที่โด่งดังไปทั่วโลกไม่แพ้อาหารจานหลักเลยทีเดียว และขนมขบเคี้ยวต่างๆก็ยังเป็นของฝากสุดฮิตของนักท่องเที่ยวที่ยินดีซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านอีกด้วย

++++++++++

4. กีฬาแบบญี่ปุ่นขนานแท้

เมื่อพูดถึงกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น นอกจากซูโม่แล้ว เรามักจะนึกถึงกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ต่างๆซึ่งเป็นที่รู้จักและถูกบรรจุในทัวร์นาเม้นท์สากลหลายประเภทเลยทีเดียว ไหนดูสิว่ามีอะไรกันบ้าง;

  • ซูโม่: นี่คือกีฬาประจำชาติญี่ปุ่นแท้ๆที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,500 ปี แม้ในปัจจุบันจะมีเด็กหนุ่มมาสมัครเป็นนักกีฬาซูโม่น้อยลง แต่ซูโม่ยังคงเป็นกีฬาที่ขายได้และยังมีทัวร์นาเม้นท์ใหญ่จัดขึ้นประจำทุกปี นอกจากนั้น การเข้าชมการแข่งขันซูโม่ ยังเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
  • เคนโด้: เคนโด้นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งผสมผสานทั้งพลัง ทักษะ และความกล้าหาญ เข้าไว้ด้วยกัน เคนโด้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยคามาคุระ (ราวๆปี 1185-1333) จากการที่ซามูไรเหลาแท่งไม้มาฝึกแทนดาบจริง และในปัจจุบันเคนโด้ก็ยังเป็นกีฬาที่คนญี่ปุ่นนิยมฝึกฝนกันทุกเพศทุกวัย
  • คาราเต้: แม้จะถูกยกให้เป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่โด่งดังที่สุด แต่ประวัติของคาราเต้นั้นดูไม่ค่อยชัดเจนนัก ว่ากันว่าอาจจะกำเนิดขึ้นแถบคาบสมุทรอินเดีย ก่อนที่พ่อค้าจีนจะนำเข้ามาเผยแพร่ที่เกาะริวคิว ซึ่งปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของโอกินาว่า ในศตวรรษที่ 14 แต่กว่าจะเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นก็ราวๆศตวรรษที่ 20 โดยคำว่า “คาราเต้” แปลว่า “มือเปล่า” ซึ่งเป็นลักษณะการต่อสู้ที่ออกอาวุธและป้องกันโดยใช้มือ แขน และเท้า
  • ไอคิโด้: “ไอคิโด้” แปลว่า “วิถีแห่งวิญญาณที่กลมกลืน” เป็นศิลปะการต่อสู้ที่หลอมรวมแนวคิดจากพุทธศาสนาและชินโตบวกกับคาราเต้และเคนโด้เข้าไว้ด้วยกัน ไอคิโดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1920 โดยอุเอชิบะโมริเฮอิ โมริเฮ ที่ทานาเบะ ฝั่งใต้ของคาบสมุทรคิอิ ทางตอนใต้ของเกียวโตและโอซาก้า เป็นการต่อสู้ที่เน้นตั้งรับและแปรพลังงานย้อนกลับไปยังฝ่ายที่โจมตี โดยที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายกับทั้งสองฝ่าย
  • ยูโด: น่าจะเป็นกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น เป็นการต่อสู้ที่เน้นความเร็วและทักษะโดยใช้ประโยชน์จากขนาดตัวและกำลังของคู่ต่อสู้มาเล่นงานตัวเขาเอง ถือกำเนิดขึ้นในปี 1882 โดย คาโนะ จิโกโร่ ที่ต้องการรวมการฝึกฝน “จูจิทสึ” และ “การต่อสู้ของซามูไร” เข้าไว้ด้วยกัน
  • เบสบอล: ถูกนำเข้ามาโดยชาวอเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แม้จะไม่ใช่กีฬาที่ถือกำเนิดในญี่ปุ่นขนานแท้ แต่เบสบอลได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่นจำนานมาก ถึงขนาดมีการจัดการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์ใหญ่เป็นประจำทุกปีที่เรียกว่า “โคชิเอ็ง” – ในปัจจุบัน มีนักเบสบอลชาวญี่ปุ่นไปเล่นอาชีพ “ยูเอส เมเจอร์ลีก” ที่สหรัฐอเมริกาหลายคน

เครดิตภาพจาก sanook.com

++++++++++

5. วัฒนธรรมแห่งการดื่ม “คัมไป!”

บอกได้เลยว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศแห่งการดื่ม เพราะมีเครื่องดื่มให้เลือกดื่มอย่างหลากหลายทั้งร้อน-เย็น ซึ่งตามปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะนิยมดื่มพร้อมกับแกล้มมากกว่าจะดื่มเพียวๆแบบตะวันตก โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติเล็กๆน้อยๆที่เราควรรู้ไว้ นั่นคือ คุณจะต้องไม่รินเครื่องดื่มเองหากคุณเป็นแขก จะต้องให้เจ้าของบ้านเป็นฝ่ายรินให้ – และคำที่มักจะได้ยินบ่อยๆประกอบการดื่มก็คือ “คัมไป” อารมณ์ประมาณ “cheers” นั่นแหละ

ว่าด้วยเครื่องดื่มประเภทที่ผสมแอลกอฮอล์ที่ดังๆหน่อยก็ได้แก่ สาเก (ไวน์ข้าว), เบียร์, มอลท์สกัด, โชจู เป็นต้น แต่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ เลเยอร์เบียร์ เช่น Kirin, Sapporo, Asahi ฯลฯ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

การซื้อเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้นะ เพราะที่ญี่ปุ่นจะมีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติหยอดเหรียญอยู่ทั่วไป ซึ่งจะขายทั้งแบบร้อนและเย็น มีตั้งแต่น้ำเปล่าไปจนถึงเหล้าเบียร์ให้เลือกสรร

แต่ที่เป็นไฮไลท์ของวัฒนธรรมแห่งการดื่ม คงหนีไม่พ้น “ชา” ที่นับว่าเป็นเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นโดยแท้ และแถมยังมีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์

"หากคุณรักการดื่มชา ที่นี่คงเป็นสวรรค์ของคุณ!"

ไม่เพียงแค่ดื่มเท่านั้น ที่ญี่ปุ่นยังมีการเปิดโรงเรียนสอนชงชากันอย่างกว้างขวางเพื่อให้ผู้เรียนสามารถชงและดื่มชาได้อย่างสง่างาม เพื่อนำไปใช้ใน “พิธีชงชาเขียว” หรือที่เรียกว่า “ซาโด” แปลตรงตัวได้ว่า “วิถีแห่งชา” ซึ่งเป็นประเพณีโบราณอันมีรากเหง้าเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธนิกายเซนมาช้านาน

เครดิตภาพจาก wallpaperaccess.com

++++++++++

6. เกอิชาและไมโกะ

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากภาพยนต์เรื่อง Memoirs of Geisha ที่เสนอภาพของสตรีในชุดกิโมโนราคาแพง แต่งหน้าขาว แต้มปากสีแดง แสดงศิลปะร่ายรำ จบท้ายด้วยการขายบริการให้ชายผู้อุปถัมภ์ ทำให้หลายคนเข้าใจว่า เกอิชาคือโสเภณี

เกอิชาไม่ใช่โสเภณี แม้ว่าในอดีตจะมีการขายพรหมจารีอย่างถูกต้อง แต่เกอิชาก็ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินซื้อเพื่อการนี้ก็ตาม เกอิชากับโสเภณีมีความแตกต่างพอสมควร โดยสังเกตอย่างง่ายจากการแต่งตัว โดยที่โสเภณีจะมีสายโอบิผูกชุดที่สามารถแกะได้จากข้างหน้า เพื่อความสะดวกในถอดชุดออกออก เครื่องประดับของเหล่าหญิงโสเภณีมีความงดงาม หรูหรา ฟู่ฟ่า ในขณะที่เกอิชามีผ้าโอบิผูกจากข้างหลังตามชุดกิโมโนทั่วไป เครื่องประดับนั้นจะเรียบง่ายแต่แสดงออกถึงความสวยงามตามธรรมชาติ ในรูปแบบของศิลปะได้อย่างดีทีเดียว

เกอิชา ถือว่าเป็นผู้ที่ชำนาญทางศิลปะและให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ สำหรับเกอิชาฝึกหัดจะเรียกว่า ไมโกะ ซึ่งมักจะเป็นหญิงสาวครอบครัวยากจนที่ถูกขายให้สำนักเกอิชาตั้งแต่วัยเด็กเพื่อนำมาฝึกฝน โดยเริ่มจากเป็นหญิงรับใช้เกอิชารุ่นพี่ และจะได้เรียนศิลปะหลายแขนง ได้แก่ การเล่นดนตรี (โดยเฉพาะชะมิเซ็ง รูปร่างคล้ายกีตาร์) การขับร้อง การเต้นรำ การชงชา การจัดดอกไม้ (อิเกะบะนะ) รวมถึงเรื่องบทกวีและวรรณคดี

เกอิชาในสมัยแรกนั้นล้วนเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันนั้นจะเรียกกันว่า “อนนะ เกชะ” หรือเกอิชาหญิง แต่ในปัจจุบันเกอิชาเป็นหญิงเท่านั้น

ส่วนเกอิชาในสมัยใหม่นั้นเป็นไปโดยสมัครใจทั้งสิ้น และการฝึกฝนอาชีพนั้นจะเริ่มต้นช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ไม่ใช่เด็กหญิงอย่างแต่ก่อน ซึ่งจะใช้เวลาฝึกยาวนานและยุ่งยากกว่าสมัยก่อน เพราะไม่ได้ฝึกตั้งแต่เด็ก

ปัจจุบันเราจะพบเห็น เกอิชา ได้ในย่าน กิออน ที่เกียวโต

ที่มาภาพจาก: ภาพยนต์  ‘Memoirs of a Geisha’ (2005)

++++++++++

7. วิถีแห่งซามูไร

สำหรับคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับซามูไรน่าจะตราตึงใจคุณได้อย่างยิ่งยวด แม้ในปัจจุบันจะไม่มีซามูไรอีกแล้ว แต่อิทธิพลของนักรบผู้ทรงเกียรติพร้อมดาบคู่ใจเหล่านี้ ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง

เป็นที่เชื่อกันว่าซามูไรมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัง (ราวๆปี ค.ศ. 794 – 1185) ในสมัยนั้นซามูไรเป็นเพียงชายฉกรรจ์ที่ถูกว่าจ้างให้มาปราบชนกลุ่มน้อยในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเท่านั้น โดยมักจะถูกจ้างจากเจ้าของที่ดินหรือตระกูลที่ร่ำรวยและมีอำนาจ ซึ่งคำว่า ‘ซามูไร’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘ซะบุระอุ’ ซึ่งแปลว่า ‘รับใช้’

จนในศตวรรษที่ 11 ซามูไรเริ่มมีบทบาททางสังคมมากขึ้น การเป็นซามูไรจึงไม่ใช่เพียงนักรบถือดาบเท่านั้น แต่ต้องมีความรู้อ่านออกเขียนได้ โดยพวกเขาจะต้องสามารถใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับคติ “บุง บุ เรียว โดะ (สว่าง, ศิลปะอักษร, ศิลปะการทหาร, วิถีทั้งสอง)” หรือ “ความกลมกลืนแห่งพู่กันและดาบ”

จนราวๆปี 1192 กลุ่มซามูไรตระกูลมินาโมโตะสามารถยึดอำนาจจากจักรพรรดิได้สำเร็จ ทำให้ “มินาโมโตะ โยริโทโมะ” ได้ขึ้นเป็นโชกุนคนแรก และซามูไรในตระกูลจึงมีหน้าที่ในสังคมมากขึ้น เช่น เก็บภาษี และรักษาความเรียบร้อยบ้านเมืองคล้ายๆตำรวจในปัจจุบัน เป็นต้น

จนกระทั่งในยุคเอโดะ ซึ่งเป็นยุคที่บ้านเมืองสงบสุข ทำให้บทบาทของซามูไรค่อยๆลดลง จนถึงปี 1868 เป็นปีที่ระบบศักดินาต่างๆได้หมดไปจากสังคมญี่ปุ่น รวมทั้งตำแหน่งโชกุนก็ไม่มีอีกต่อไป ทำให้ชนชั้นซามูไรหมดสิ้นตามไปด้วย

หัวใจพื้นฐานของซามูไรคือ “บูชิโด” หรือ “วิถีแห่งนักรบ” ปรัชญาเนื้อแท้ตามหลักพุทธศาสนานิกายเซนที่เชิดชูความจงรักภักดี ความกตัญญู ความกล้าหาญ ความเสียสละ การไม่ยอมแพ้ต่อความหวาดกลัว และการดำรงตนด้วยวินัยที่เคร่งครัดและเคารพศักดิ์ศรีผู้อื่นนั้น ย่อมควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างให้ชนชั้นอื่นๆได้ประพฤติตาม

ที่มาภาพจาก: ภาพยนต์ 'Seven Samurai' (1954)

++++++++++

8. ศิลปะชั้นสูงในโรงละคร

ศิลปะการร่ายรำนับเป็นหนึ่งในศิลปะชั้นสูงที่สืบทอดผ่านยุคสมัยและการผลัดเปลี่ยนทางสังคมมากว่า 1,000 ปี แต่เดิมนั้นการแสดงเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า ก่อนจะค่อยๆสั่งสมเทคนิคที่ซับซ้อนหลากหลายและพัฒนาจนกลายเป็นงานอาร์ทชั้นสูงที่จัดแสดงบนเวทีโรงละครแบบญี่ปุ่นแท้ๆสุดคลาสสิค

การแสดงศิลปะแบบดั้งเดิมในญี่ปุ่น หลักๆมี 3 ประเภท ได้แก่;

  • ละครโนห์ (Noh) ถือกำเนิดขึ้นในศควรรษที่ 14 เป็นการแสดงพื้นบ้านชั้นสูงของญี่ปุ่น (เทียบได้ประมาณ “โขน” ของไทย) ซึ่งรวบรวมศิลปะหลายแขนงทั้งการขับร้อง ร่ายรำ และการแสดงรวมเข้าด้วยกัน ส่วนใหญ่จะผูกเป็นเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับความฝัน ภูตผีปีศาจ วิญญาณ และเรื่องเหนือธรรมชาติ ฯลฯ ละครโน ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และถูกบันทึกให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ในปี 2001 – โรงละครโนห์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “โรงละครโนแห่งชาติ” อยู่ในเขตชิบูย่า กรุงโตเกียว
  • ละครคาบูกิ (Kabuki)ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน ในสมัยเอโดะ เป็นการแสดงที่เน้นการสื่อสารผ่านตัวแสดงที่อาจจะอิงประวัติศาสตร์ ตำนานซามูไร หรืออาจเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันก็ได้ มาผูกเป็นเรื่องราวแบบละครให้เข้าใจง่ายและได้อรรถรสสำหรับคนดู เป็นการแสดงศิลปะโบราณที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) และในปี 2008 ได้ถูกบันทึกให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” – โรงละครคาบูกิที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ คาบูกิซะ ย่านกินซ่า กรุงโตเกียว ส่วน “โรงละครคาบุกิคานามารุซะ” เป็นโรงละครคาบูกิแบบดั้งเดิมที่สมบูรณ์ที่สุดและเก่าแก่ที่สุด สร้างขึ้นในปี 1835 อยู่ที่โคโตฮิระ คางาวะ
  • ละครหุ่นบุนรากุ (Bunraku)ถือกำเนิดขึ้นในสมัยเอโดะที่เมืองโอซาก้า เป็นละครหุ่นที่มีเอกลักษณ์คือใช้คนชักพร้อมกัน 3 คน ให้เข้ากับคำร้องและดนตรีประกอบและแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าของหุ่นด้วย โดยจะเน้นการเล่าเรื่องที่สนุกสนานเป็นหลัก ละครหุ่นบันรากุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2003 – สถานที่จัดแสดงที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากคือ โรงละครหุ่นแห่งชาติบุนรากุ ตั้งอยู่ในย่านนิปปงบาชิ โอซาก้า

**ที่มาข้อมูล: https://ohhotrip.com/12061/

++++++++++

9. การจัดสวนญี่ปุ่น

ลักษณะการจัดสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมนั้น เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยนำแนวคิดแห่งทางเดินสู่การตรัสรู้ของพระพุทธองค์เป็นแรงบันดาลใจ โดยพื้นดินเปรียบดังตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงธรรมชาติในจิตใจแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ช่วงศตวรรษที่ 13 ได้มีแนวความคิดจัดพิธีชงชาในสวน ทำให้ต้องมีการปรับภูมิทัศน์สำหรับรองรับงานพิธี จนในปี 1568-1600 พิธีชงชาก็ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดสวนของญี่ปุ่นอย่างชัดเจน โดยมีการประดับสวนด้วยโคมไฟหินและสะพานโค้ง ซึ่งทำให้สวนญี่ปุ่นมีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

จนกระทั่งถึงยุคโชวะ ตั้งแต่ปี 1926-1989 เมื่อญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำประเทศแรกในเอเชียตะวันออก ทำให้อารยธรรมตะวันตกได้แพร่เข้ามาในประเทศมากขึ้น การจัดสวนเริ่มมีการผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตกมากขึ้น วัฒนธรรมการจัดสวนที่อิงพุทธศาสนาและพิธีกรรมดั้งเดิมค่อยๆคลายมนต์ขลัง กลายเป็นศิลปะที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น

เครดิตภาพจาก wallpaperaccess.com

++++++++++

10. วัฒนธรรมการชมดอกซากุระบาน

หลายคนเฝ้ารอให้ถึงฤดูใบไม้ผลิที่ญี่ปุ่นเร็วๆ โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน ของทุกปี เพราะนั่นหมายถึงเวลาแห่งการ “ชมดอกซากุระ” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองทั้งเมืองถูกปกคลุมด้วยกลีบดอกไม้สีขาวชมพู ท่ามกลางอากาศเย็นสบายไม่หนาวไม่ร้อน

วัฒนธรรมการชมดอกซากุระ หรือ “ฮานามิ” (Cherry Blossom Viewing) มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยเฮอัน หรือ ราวๆปี ค.ศ. 794-1185 ซึ่งในสมัยโบราณนั้น ดอกซากุระมีความสำคัญในฐานะเป็นสิ่งที่บ่งบอกให้ทราบถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวประจำปี อีกทั้งความงดงามที่มาไวไปไวของมัน ก็ได้ถูกนำไปใช้ในบทกวีแห่งยุคมากมาย

ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าต้นซากุระมีวิญญาณตามหลักการของชินโต และได้มีการนำเหล้าองุ่นไปถวาย ซึ่งในเวลาต่อมาก็กลายเป็นประเพณีฉลองเทศกาลฮานามิด้วยการกินดื่มอย่างสนุกสนาน

สำหรับจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงในการ “ชมดอกซากุระ” ประจำปี ได้แก่;

  • เม้าท์โยชิโน่ (โยชิโนะยามะ), นารา
  • ประสาทฮิเมจิ, เฮียวโงะ
  • หมู่บ้านซามูไรคาคุโนะดาเตะ, อาคิตะ
  • อุทยานหลวงชินจุกุ (ชินจุกุเกียวเอ็ง), โตเกียว
  • คาวาสึซากุระ, ชิสุโอกะ
  • ถนนสายนักปราชญ์, เกียวโต
  • ปราสาทฮิโรซากิ, อาโอโมริ
  • สวนมัตสึมาเอะ, ฮอกไกโด
  • ทะเลสาบคาวากุจิโกะฝั่งเหนือ, ยามานาชิ
  • สวนเคมะ ซากุระโนมินะ, โอซาก้า

++++++++++++++++++++++

By Poksafin

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!