ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

รู้จักวัฒนธรรมการดื่มของคนญี่ปุ่น

หัวข้อที่เกี่ยว
drink-43a6f1c0

การดื่มสังสรรค์เป็นการกระชับสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้คนจากวัฒนธรรมไหน ย่อมมีการจัดสังสรรค์ด้วยการดื่มพร้อมอาหารที่อร่อยอยู่เสมอ ตั้งแต่กลุ่มเพื่อน กลุ่มรุ่นพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน เจ้านายลูกน้องหรือแม้แต่ผู้ร่วมธุรกิจก็มีการจัดการสังสรรค์บนโต๊ะอาหารพร้อมเครื่องดื่มอยู่เสมอเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ทว่า ในแต่ละวัฒนธรรมมีการจัดการที่แตกต่างกันไป ชาวญี่ปุ่นเองก็มีกฎระเบียบทางสังคมและวัฒนธรรมในการจัดการดื่มสังสรรค์ที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของไทยมาก ตั้งแต่การจัดที่นั่งไปจนถึงการชำระบิลมีการกำหนดว่าใครทำอะไรและและใครนั่งตำแหน่งไหนอย่างชัดเจน

ผู้อ่านคนไหนที่พี่มีเพื่อนเป็นชาวญี่ปุ่นหรือทำธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นอยู่ ควรจะเข้าใจวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์ของญี่ปุ่นให้ดีเพื่อความสำเร็จในการกระชับมิตรสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

การจองร้านอาหาร

รูปภาพจาก https://www.pxfuel.com/en/search?q=reserve

สิ่งแรกที่ควรรู้คือเมื่อพูดถึงการสังสรรค์หรือการชวนดื่ม ชาวญี่ปุ่นจะเรียกอยู่บ่อยๆว่า Nomikai (飲み会)เป็นการรวมตัวระหว่างกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่ธุรกิจมานั่งดื่มและพูดคุยกระชับความสัมพันธ์กันนอกงาน

ชาวญี่ปุ่นนิยมจัดงานสังสรรค์ที่ร้านอาหาร ต่างจากที่ประเทศไทยเวลาเราพูดถึงการดื่มสังสรรค์จะนึกถึงบาร์หรือผับกันเป็นส่วนใหญ่ ชาวญี่ปุ่นชอบที่จะรับประทานอาหารอร่อยพร้อมกับเครื่องดื่มและพูดคุยเจรจาสนทนากันให้สนุกที่ร้านอาหารมากกว่า ซึ่งหัวข้อเรื่องสนทนาก็จะเริ่มต้นที่รสชาติของอาหารที่ทุกคนรับประทานร่วมกัน

สิ่งสำคัญคือ Host หรือผู้จัดงาน คนที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มจะเป็นคนรับผิดชอบในการหาร้านอาหารที่ถูกใจสำหรับทุกคน รวมถึงการจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับจำนวนคนและการจองร้านอาหารล่วงหน้า เปรียบเสมือนเป็นการฝึกให้ผู้ใหญ่มือใหม่ได้มีความรับผิดชอบและรู้จักการจัดการอยากเป็นระบบ เมื่อทำการจองร้านอาหารแล้วก็ต้องติดต่อสื่อสารกับทุกคนในกลุ่มและแจ้งให้ทุกคนทราบถึงเวลา สถานที่ รวมถึงลักษณะอาหารว่าเป็นบุฟเฟ่ต์หรืออาหารจานเดียว


รูปภาพจาก https://www.flickr.com/photos/27983255@N00/6891090577/

ถ้าเป็นการจัดงานสังสรรค์ระหว่างกลุ่มคนมากกว่า 5 คนขึ้นไปหรือเป็นกลุ่มใหญ่ คนญี่ปุ่นนิยมสั่งอาหารเป็นชุดและใช้เป็นระบบดื่มไม่อั้นหรือที่เรียกว่า “Nomi-houdai”ในภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้สะดวกต่อการจัดการ ส่วนถ้าเป็นการรวมตัวระหว่างคนกลุ่มน้อย สามารถจองแค่สถานที่และเลือกเมนูตามที่ต้องการที่ร้านอาหารด้วยกันได้

การจัดที่นั่ง

เวลามีดื่มสังสรรค์กับรุ่นพี่ เจ้านายหรือลูกค้า คนญี่ปุ่นมีระบบการจัดที่นั่งทางสังคมอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นการเคารพและให้เกียรติต่อแขกหรือผู้อาวุโสกว่า ฉะนั้น เราควรจะเข้าใจในระบบการจัดที่นั่งนี้และที่สำคัญต้องรู้ว่าใครอาวุโสกว่าและใครมีตำแหน่งสูงกว่าในกลุ่มนั้นๆ ระบบนี้ไม่เพียงแต่ใช้ในการจัดที่นั่งในการสังสรรค์เท่านั้น แต่รวมถึงการจัดที่ประชุมทั้งในและนอกบริษัท แม้แต่การจัดที่นั่งบนรถแท็กซี่ก็มีกฎระเบียบตำแหน่งที่ชัดเจน ฟังแล้วดูเคร่งครัดยิ่งกว่าวัฒนธรรมไทย แต่นี่คือวิถีการเคารพผู้อาวุโสและการให้เกรียติแขกของเขา

โต๊ะกลม

รูปภาพจาก https://mynavi-agent.jp/dainishinsotsu/canvas/2018/03/post-46.html

ถ้าที่นั่งในร้านอาหารเป็นโต๊ะกลมให้สังเกตจากประตูทางเข้าที่ทุกคนต้องเดินเข้ามาที่โต๊ะว่าหันไปทางด้านไหน ด้านตรงข้ามไกลสุดจากประตูคือที่นั่งของแขกหรือผู้อาวุโสที่สุดหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงที่สุด (1) ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Kamiza” แปลว่าที่นั่งของพระเจ้า ส่วนด้านข้างของผู้อาวุโสคือผู้ที่มีตำแหน่งรองลงมาทั้งสองข้าง (2-3) ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด (8) จะนั่งที่หน้าประตู ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Shimoza” เป็นตำแหน่งที่นั้งเพื่อให้สะดวกต่อการเดินติดต่อกับทางร้านอาหาร คอยแนะนำทางและต้อนรับผู้ที่มาสายและให้ความช่วยเหลืออื่นๆแก่ผู้อื่นในกลุ่มทุกคน

โต๊ะเหลี่ยม

รูปภาพจาก https://mynavi-agent.jp/dainishinsotsu/canvas/2018/03/post-46.html

ถ้าโต๊ะที่นั่งทางร้านจัดเป็นโต๊ะสี่เหลี่ยมและให้ทุกคนนั่งรอบข้างจะจัดเป็นลักษณะตามรูปด้านบน ที่นั่งของผู้อาวุโสที่สุดหรือผู้มีตำแหน่งสูงสุดจะอยู่ตำแหน่งที่หัวโต๊ะ ด้านไกลสุดจากประตู โดยเรียงลำดับความอาวุโสและตำแหน่งมาเรื่อยๆ (1-5) จากด้านในสุดมาถึงด้านใกล้ประตูที่สุด (6) ซึ่งจะเป็นที่นั่งของผู้ที่อายุน้อยที่สุดนั่นเอง

รูปภาพจาก https://www.flickr.com/photos/lhat/6531740829/

การเปิดการดื่ม

รูปภาพจาก https://pixabay.com/ja/photos/乾杯-飲み会-酒-グラス-2636510/

อย่างที่ทุกคนทราบกันว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตเบียร์มากติดอันดับโลกและยังเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมมาตลอด แต่อย่างไรก็ตามประเทศญี่ปุ่นก็มีทั้ง Sake และ Whiskey ต่างๆที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนญี่ปุ่นหลายคนอีกด้วย

ในกฎระเบียบมารยาทของการดื่มสังสรรค์กันเป็นกลุ่มของชาวญี่ปุ่น โดยพื้นฐานเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเริ่มต้น ทุกคนจะดื่มเบียร์ชนิดเดียวกันก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ขวดหรือเบียร์สด อะไรก็ได้ที่เสริฟได้เร็วที่สุด ร้านอาหารก็จะมีการจัดเป็นแก้วเล็กๆเพื่อเป็นพิธีในการเปิดการดื่มแก้วแรก และด้วยมารยาทที่ดีก็ควรจะดื่มแก้วนี้ให้หมดแก้วก่อน หลังจากนั้นเราถึงสามารถสั่งเครื่องดื่มชนิดอื่นได้ตามใจชอบ

แน่นอน ก่อนที่จะเลือกว่าจะเป็นเบียร์ชนิดไหน ผู้ที่อายุน้อยที่สุดต้องถามผู้ที่อาวุโสที่สุดในกลุ่มว่าอยากจะได้ประเภทหรือแบรนด์ยี่ห้ออะไรในการดื่มแก้วแรก หลังจากนั้นก็ต้องรินให้ทุกคนในกลุ่ม เมื่อทุกคนได้รับเบียร์ครบแล้วจะให้ผู้ที่อาวุโสที่สุดกล่าวเปิดงานและชนแก้ว การชนแก้วในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Kampai”

เมื่อได้ดื่มเบียร์แก้วแรกกันเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เกียรติแก่ผู้อาวุโสที่สุดในการเลือกเครื่องดื่มต่อไปก่อนที่คนอื่นๆจะเลือกเครื่องดื่มในลำดับถัดไป หลังจากนั้นก็จะสามารถเลือกเครื่องดื่มเพิ่มเติมได้ตามอัธยาศัย

รูปภาพจาก https://toyokeizai.net/articles/-/166120

การเสริฟอาหาร

แน่นอนทุกสิ่งต้องเริ่มต้นจากผู้ที่มีอายุสูงที่สุดโดยมีผู้ที่อายุน้อยที่สุดเป็นผู้เสิร์ฟและคอยดูแลเบื่องต้น เมื่ออาหารพร้อมมาถึงที่โต๊ะอาหารของเราต้องเสิร์ฟต่อหน้าผู้ที่อาวุโสที่สุดก่อน ถ้าเป็นการแชร์อาหาร ตัวอย่างเช่นการกิน Hotpot หรือหม้อไฟ ผู้ที่อายุน้อยที่สุดก็ต้องตักซุปแยกให้กับผู้ที่อาวุโสที่สุดก่อนที่ตัวเองจะเริ่มรับประทานได้

ผู้ที่อายุน้อยที่สุดยังต้องคอยสังเกตกลุ่มคนในโต๊ะอาหารว่าต้องการอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยคอยเสนอและถามเวลาเห็นแก้วว่างหรือจานว่าง ถึงแม้ผู้อาวุโสหลายคนจะบอกว่า “ไม่เป็นไร ดูแลตัวเองได้” แต่การถามก็เป็นหนึ่งในมารยาทที่ชาวญี่ปุ่นปฏิบัติกันมาตลอด ยิ่งถ้าเป็นการสังสรรค์ระหว่างคู่ธุรกิจก็จะสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความใส่ใจในการดูแลลูกค้าจากโต๊ะอาหารนี้ ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นนิยมเชิญลูกค้ามานั่งโต๊ะร่วมอาหารและสังสรรค์ร่วมกันนอกสถานที่งาน

การจ่ายบิล

กฎมารยาทการจ่ายบิลก็จะจัดสรรกันอย่างเป็นระเบียบ ใครจ่าย ใครไม่จ่าย ใครจ่ายมาก ใครจ่ายน้อย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆดังนี้

รูปภาพจาก https://www.pikrepo.com/fydsd/paying-with-credit-card

กลุ่มบริษัทเดียวกัน

จำนวนเงินจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความอาวุโสของคนในกลุ่ม โดยผู้ที่อาวุโสที่สุดจะเป็นผู้ออกเงินจำนวนมากที่สุด ตำแหน่งรองลงมาก็จะออกในจำนวนเท่าเทียมกันหรือน้อยกว่าเล็กน้อย และแน่นอน ผู้ที่อายุน้อยที่สุดก็จะจ่ายน้อยที่สุด หลายบริษัทจะมีการจัดตารางเปอร์เซ็นการออกเงินในแผนกเพื่อช่วยให้เข้าใจและง่ายต่อการจัดการว่าใครจ่ายเท่าไรเมื่อมีงานเลี้ยงสังสรรค์ของแผนก

กลุ่มรุ่นพี่และน้อง

เป็นมารยาทของคนญี่ปุ่นที่ปฏิบัติกันมาตลอดว่ารุ่นพี่ต้องเลี้ยงรุ่นน้องหรือออกเงินจำนวนมากกว่ารุ่นน้องเมื่อมีการชวนมาดื่มด้วยกัน

คู่ธุรกิจและลูกค้า

เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจกับชาวญี่ปุ่น เมื่อมีลูกค้ามาเยี่ยมที่บริษัทของตน เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพในการเลี้ยงอาหารและเครื่องดืมลูกค้า ถือเป็นการแสดงการต้อนรับที่อบอุ่นและใส่ใจในการทำธุรกิจร่วมกัน ในทางกลับกัน เมื่อเราเป็นผู้เยี่ยม เราก็จะได้รับการเลี้ยงจากบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

การเลิกงานเลี้ยง

คนญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญกับความสามัคคีของทีมในกลุ่ม ก่อนที่จะเลิกงานเลี้ยงก็จะมีการกล่าวปิดงานจากผู้อาวุโสที่สุดหรือใครก็ได้ที่ได้รับหน้าที่ พร้อมปรบมือพร้อมกัน 1 ครั้งดังๆ การปิดด้วยการปรบมือแบบนี้ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Ippon jime” นิยมใช้ในงานเลี้ยงที่เป็นกลุ่มใหญ่หรืองานรวมตัวของบริษัท

รูปภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%E4%B8%89%E4%B8%89%E4%B8%83%E6%8B%8D%E5%AD%90_%E5%BF%98%E5%B9%B4%E4%BC%9A_%E6%8B%8D%E6%89%8B_%E7%B7%A0%E3%82%81_%E9%A3%B2%E3%81%BF%E4%BC%9A_(29932486950).jpg


เมื่อเราทราบมารยาททางสังคมของชาวญี่ปุ่นในการจัดการสังสรรค์แล้ว เวลามีโอกาสดื่มกับชาวญี่ปุ่นครั้งหน้า ไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจหรือส่วนตัว ให้ลองปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้เพื่อสร้างความประทับใจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นจะรู้สึกเซอร์ไพรส์แน่นอน!

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Ammer
สวัสดีครับ ผมแอมเมอร์ ครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Nanzan University ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นกว่า 7 ปี อดีต เป็นพนักงานต้อนรับบนเรื่องบินและบินเส้นทางญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ ประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัจจุบันทำงานเป็นให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง นอกเหนือจากงานเขียนบน OhHoTrip ยังมีผบงานเขียนหนังสือออนไลน์ เรียน"ญี่ปุ่น" ยังไงให้รอด และช่อง Youtube เกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถ้าชอบ Blog ที่ผมเขียน ช่วยกด LIKE กดแชร์ด้วยนะครับ :) https://www.youtube.com/c/Ammerkongtangjitt-japan

ค้นหากิจกรรมบน Klook ได้เลยจากด้านล่างนี้!

ค้นหากิจกรรมบน Klook ได้เลยจากด้านล่างนี้!

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!

RELATED POST