ที่เที่ยวในญี่ปุ่น

ส่องที่มากว่าร้อยปีของตู้คีบตุ๊กตา

ภูมิภาค
หัวข้อที่เกี่ยว
|
OhhoTrip_UFO_Cover-01

หากถามว่าเมื่อไปญี่ปุ่นแล้ว กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาดคืออะไร หนึ่งในคำตอบนั้นจากเราก็ต้องมี คีบตุ๊กตา อยู่ในนั้นแน่นอน เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีร้านตู้คีบตุ๊กตาเยอะและใหญ่มาก จนทำให้เราสงสัยใคร่รู้ขึ้นมาว่าการคีบตุ๊กตาได้กลายมาเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายได้อย่างไร

ถึงแม้ว่าในญี่ปุ่นจะมีธุรกิจร้านตู้คีบตุ๊กตาอยู่เยอะมากก็จริง แต่ว่าสิ่งนี้ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในญี่ปุ่นตั้งแต่แรก แต่เป็นอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก นั่นคือ สหรัฐอเมริกา นั่นเอง ตู้คีบแรกนี้ได้กำเนิดขึ้นบนโลกในช่วงทศวรรษที่ 1890 มีลักษณะเป็นตู้กระจกที่ข้างในตรงกลางตู้จะมีอุปกรณ์คีบหน้าตาคล้าย ๆ รถตักดิน โดยที่รอบ ๆ อุปกรณ์คีบนี้ก็จะเป็นลูกอม คนเล่นต้องใช้มือหมุนคันหมุนด้านนอกตู้ให้อุปกรณ์คีบลูกอมมาหย่อนที่ช่องข้างในตู้ แล้วลูกอมก็จะไหลลงมาตรงช่องรับของด้านหน้าตู้ นั่นหมายความว่า ตู้คีบตู้แรกของโลกยังเป็นเหมือนตู้แจกลูกอมเท่านั้น ยังไม่ได้มีกลไกที่เป็นเกมเหมือนในปัจจุบันค่ะ

ถัดมาไม่นานในช่วงทศวรรษที่ 1920 เจ้าตู้คีบนี้ได้ถูกนำไปจดสิทธิบัตรในชื่อ Eerie Digger ตู้คีบรุ่นนี้มีฟังก์ชั่นที่เพิ่มจากรุ่นแรกคือสามารถหยอดเหรียญได้ และมีการเพิ่มความหลากหลายของของรางวัลในแต่ละตู้มากขึ้น ในช่วงแรกเจ้าตู้ Digger นี้จะถูกนำไปตั้งตามงานเทศกาล งานรื่นเริงต่าง ๆ เพราะมีราคาถูกและไม่ต้องใช้ระบบไฟฟ้า แต่ของรางวัลข้างในนี่สิ คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนอยากจะลองเสี่ยงโชคดูสักครั้ง ตู้ Digger จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร สถานีรถไฟ ป้ายรถเมล์ และโรงแรมหรูทั้งหลายก็อยากจะมีตู้คีบนี้ไปตั้งบ้าง จึงมีการออกแบบหน้าตาของตู้ให้เข้ากับแต่ละสถานที่ เพื่อดึงดูดคนให้คนมาที่หน้าร้าน และในขณะเดียวกันเจ้าของกิจการก็ยังได้รายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากตู้นี้อีกด้วย

เมื่อมีขาขึ้น วันนึงก็ต้องมีขาลง เมื่อตู้คีบนี้ได้ถูกจัดประเภทให้เป็นอุปกรณ์การพนันในปี ค.. 1951 ตามกฎหมาย The Johnson Act ที่เพิ่งการอนุมัติในปีนั้น ทำให้การขนส่งตู้คีบ Digger ระหว่างรัฐเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ธุรกิจนี้จึงต้องหยุดชะงักไปเป็นเวลาถึง 2 ปี จนเมื่อมีการแก้กฎหมายใหม่ จึงทำให้ธุรกิจตู้คีบนี้กลับมาอีกครั้ง ภายใต้กฎข้อบังคับที่ว่า ห้ามใส่ของรางวัลที่มูลค่าเกิน 1 USD ห้ามมีช่องหยอดเหรียญที่ตู้ ต้องมีราคาต่อการเล่น 1 ครั้ง (Cost per play) ไม่เกิน 10 Cent และมีการเก็บภาษี 10 USD ต่อตู้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของธุรกิจนี้เลยทีเดียว

22 ปีต่อมา ความมืดมนก็ได้เริ่มจางหายไปในปี ค.. 1973 เมื่อกฎหมาย The Johnson Act ที่เข้มงวดได้ถูกยกเลิกไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของตู้คีบนี้อย่างก้าวกระโดด ที่แน่ ๆ เลยคือ สามารถมีช่องหยอดเหรียญได้ ปุ่มบังคับ 2 ปุ่มที่เคยบังคับได้แค่ 1 ครั้งต่อแกนการเคลื่อนที่ภายในเวลาที่กำหนด ก็ถูกเปลี่ยนเป็นคันโยก (Joystick) ทำให้ผู้เล่นมีโอกาสชนะได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ มูลค่าของของรางวัลก็ไม่ได้ถูกจำกัดเพดานราคาอีกต่อไป รวมถึงราคาของการเล่นต่อครั้งด้วย

และในช่วงยุคนี้นี่เองที่เจ้าตู้คีบนี้ได้เดินทางไปยังทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มี 2 บริษัทใหญ่แห่งวงการเกมอย่าง Sega และ Taito ซึ่งเป็นผู้ผลิตตู้คีบรายใหญ่ ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น จึงทำให้มีการตั้งชื่อเจ้าตู้ Digger นี้ใหม่เป็น UFO Catcher เพื่อใช้ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เนื่องจากในยุคนั้นชาวญี่ปุ่นมีความตื่นตัวกับเรื่องของ UFO เป็นอย่างมาก ประกอบกับลักษณะของตัวคีบที่มีหน้าตาคล้ายกับจานบินด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อใหม่ของตู้คีบตุ๊กตาในญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากชื่อแล้ว การออกแบบหน้าตา สีสัน หรือแม้แต่ของรางวัลในตู้ก็ยังใช้หลักการ Kawaii Culture คือใช้ความน่ารักเป็นแกนหลักในการพัฒนารูปแบบของตู้ให้ความรู้สึกเป็นมิตรหรือพูดง่าย ๆ ว่า น่าเล่น มากกว่าตู้จากฝั่งอเมริกา เพื่อให้ดึงดูดคนเล่นในกลุ่มครอบครัว เด็ก และผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งก็เรียกได้ว่ามองเกมขาด เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ เจ้าตู้คีบ UFO Catcher ก็ยังคงไม่เสื่อมความนิยมไปจากสังคมญี่ปุ่นเลย แต่กลับเป็นกิจกรรมที่ต้องมาสัมผัสสักครั้งเมื่อได้มาถึงญี่ปุ่น

และในปีนี้ Taito ก็ได้สร้างสถิติให้กับประเทศญี่ปุ่นด้วยการสร้าง Game Center ที่มีจำนวน UFO Catcher หรือตู้คีบตุ๊กตามากที่สุดในโลกถึง 454 ตู้ รับรองโดย Guinness World Record และมีการติดตั้งเพิ่มอีกในภายหลังเป็น 794 ตู้!!! สามารถตามไปเล่นกันได้ที่ Taito Station Fuchu Kururu ซึ่งน่าจะใช้เวลามากกว่าครึ่งวัน เพราะว่าแค่เดินเลือกของในตู้ก็น่าจะใช้เวลานานมากทีเดียว แต่ถ้าหากไม่อยากไปเดินเลือกให้เหนื่อย เดี๋ยวนี้เค้าก็มีให้เล่นบนแอปพลิเคชั่นมากมายค่ะ ถ้าคีบได้เค้าก็จะจัดส่งรางวัลให้ถึงบ้านเลยชิล ๆ

ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยคะว่า แค่ ตู้คีบตุ๊กตา หน้าตาแบ๊ว ๆ จะผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายกว่าร้อยปีแล้ว ถูกสร้างโดยประเทศหนึ่ง แต่กลับได้รับความนิยมในอีกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวไปแล้ว เพราะถ้าหากนึกถึงตู้คีบตุ๊กตา เราก็คิดว่าก็ต้องมาเล่นที่ญี่ปุ่นนี่แหละ ฟินสุด!!!


Credit

https://clawesomeatx.wixsite.com/website/the-history-of-claw-machines

https://www.sega-16.com/2018/10/history-of-sega-ufo-catcher/

https://www.taito.co.jp/ts-fuchu

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Amornsri Anutrakulchai
เป็นคนที่รักการเที่ยวคนเดียวมาก ๆ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนลองเดินทางด้วยตัวเอง แต่แปลกมาก ๆ ที่เราไม่เคยเดินทางในญี่ปุ่นคนเดียวเลย อาจเป็นเพราะเป็นประเทศที่ทุกคนมีความผูกพัน ใฝ่ฝันและเอื้อมถึงได้ ก็เลยมักจะมีเพื่อนร่วมทางด้วยเสมอ สิ่งที่เราสนใจในญี่ปุ่นมากที่สุดคืองานออกแบบในทุก ๆ มิติ ทั้งสถาปัตยกรรม ของใช้ อาหาร แฟชั่น การ์ตูน ชอบในความละเอียดกับที่มาที่ไปของทุก ๆ สิ่งรอบตัวค่ะ
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!