ข้อควรรู้ญี่ปุ่น

ทำความรู้จัก “โอะมิคุจิ” (Omikuji) … ให้เซียมซีทำนายกัน!

Cover_Omikuji-0ec4889b

เชื่อว่าทุกคน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนและผู้ที่นิยมเข้าวัดทำบุญ น่าจะรู้จัก “เซียมซี” เป็นอย่างดี เพราะแทบทุกวัดในศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ไหน จะใกล้หรือไกลก็ล้วนมีสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้แขกผู้มาเยือนได้แวะมาเสี่ยงเซียมซีทำนายดวงชะตาหลังขอพรสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วเสมอ

“โอะมิคุจิ” (Omikuji) หรือ “เซียมซีญี่ปุ่น” แปลตรงตัวได้ว่า “กระดาษศักดิ์สิทธิ์” เป็นโฏฌฌฌฌ)ญซษกระดาษแผ่นเล็กๆที่เขียนคำทำนายโชคชะตาซึ่งมีให้เห็นแทบจะทุกวัดและศาลเจ้าในญี่ปุ่นทั้งในศาสนาพุทธและชินโต โอะมิคุจิมีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี ต้นกำเนิดไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างก็ว่าได้อิทธิพลมาจาก “เทนจิคุ” (Tenjiku) เซียมซีใบเล็กๆของจีนในยุคปลายราชวงศ์ซ่งแล้วแพร่หลายมายังญี่ปุ่นในยุคมุโรมาจิ บ้างก็ว่าเกิดขึ้นในยุคคามาคุระ ซึ่งจะมีการเสี่ยงทายเพื่อกำหนดโชคชะตาของบ้านเมืองในเรื่องสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในเหล่าชนชั้นสูงในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับจักรพรรดิหรือโชกุน ไปจนถึงซามูไรและขุนนางลำดับต่างๆ ก่อนที่จะค่อยๆ ขยายไปสู่การทำนายโชคชะตาของคนทั่วไปตามที่เห็นในปัจจุบัน

วิธีเสี่ยงทายกับโอะมิคุจิ

โดยทั่วไปจะมีรูปแบบที่ไม่ต่างจากการเสี่ยงเซียมซีในพื้นที่อื่นเท่าใดนัก คือจะมีภาชนะสำหรับเสี่ยงโอะมิคุจิที่เป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงกระบอก ภายในบรรจุแท่งเซียมซี หรือ “มิคุจิโบ” (Mikuji-bo) ซึ่งมีหมายเลขกำกับบนแต่ละแท่ง ด้านบนของฝากล่องจะมีรูหรือช่องขนาดพอให้แท่งมิคุจิโบหล่นออกมาได้ ซึ่งผู้เสี่ยงทายจะนำกล่องไม้นั้นมาเขย่าจนมิคุจิโบหนึ่งแท่งหล่นออกมา จากนั้นจึงนำหมายเลขที่ระบุนั้นไปรับคำทำนาย โดยคำทำนายที่ได้มักจะเป็นการทายทักโดยรวม เช่น หน้าที่การงาน สุขภาพ ความรัก การเดินทาง โชคลาภ เป็นต้น ซึ่งในใบทำนายแต่ละใบมักจะใส่คำแนะนำเพื่อเพิ่มความโชคดีและวิธีปัดเป่าความโชคร้ายแบบคร่าวๆเอาไว้ให้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจะพบว่ามีวัดและศาลเจ้าหลายแห่งที่เปลี่ยนมาใช้วิธีอื่นๆ เช่น เสี่ยงทายด้วยการหยิบแผ่นโอะมิคุจิที่พับแล้วออกจากกองแล้วเปิดอ่านได้ทันที ซึ่งโอะมิคุจิจะถูกพับให้เป็นรูปต่างๆ ที่ดูสวยน่ารักตามที่แต่ละวัดจะใช้ เพื่อให้การทำนายน่าสนใจและมีกิมมิคมากขึ้น หรือบางที่อาจอ้างอิงตามสมัยด้วยการใช้เครื่องหยอดเหรียญในการเสี่ยงทายแทน นอกจากนั้นแล้ว เรายังสามารถพบเห็นตู้โอะมิคุจิหยอดเหรียญได้ตามสถานที่ต่างๆนอกเหนือจากในวัดและศาลเจ้ามากขึ้น

วิธีอ่านคำทำนายจากโอะมิคุจิ

ในสมัยโบราณคำทำนายจากการเสี่ยงเซียมซีหรือโอะมิคุจิ จะเป็นคำทำนายในภาษาญี่ปุ่น โดยแยกคำทำนายเป็นลำดับขั้น เรียงตามความโชคดีจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด คือ;

  • โชคดีมากที่สุด (大吉) หรือ ไดกิจิ (Daikichi)
  • โชคดีปานกลาง (中吉) หรือ ชูกิจิ (Chukuchi)
  • โชคดีเล็กน้อย (小吉) หรือ คิจิ (Kichi)
  • กึ่งโชคดี (末吉) หรือ ฮังกิจิ (Hankichi)
  • โชคดีตามกรรม (末吉) หรือ ซุเอกิจิ (Suekichi)
  • โชคดีเล็กน้อยในอนาคต (末小吉) หรือ ซุเอโชกิจิ (Sueshokichi)
  • โชคร้าย (凶) หรือ เคียว (Kyo)
  • โชคร้ายที่สุด (大凶) หรือ ไดเคียว (Daikyo)

ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว หากคำเสี่ยงทายออกมาดี ผู้เสี่ยงทายมักจะนำใบเซียมซีติดตัวกลับบ้านไปด้วยเพื่อรักษาความโชคดีให้อยู่กับตัว โดยอาจจะเก็บไว้ในกระเป๋าตังค์หรือเคสโทรศัพท์มือถือ แต่หากว่าคุณเสี่ยงได้ความโชคร้าย ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป เพราะแต่ละวัดหรือสถานที่เสี่ยงทายนั้นๆ ล้วนมีคำแนะนำในการปฏิบัติ ซึ่งแต่ละที่ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น บางวัดอาจแนะนำให้นำโอะมิคุจิแผ่นนั้นไปผูกไว้ที่ต้นไม้หรือภายในบริเวณที่วัดกำหนด เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าถ้าผูกความโชคร้ายเอาไว้ ความโชคร้ายจะไม่เกิดขึ้นจริงหรืออาจถึงขั้นกลับกลายเป็นความโชคดี

และเนื่องจากประเทศญี่ปุ่น แทบจะเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นในปัจจุบัน จึงได้มีการจัดทำใบคำทำนายโอะมิคุจิให้มีภาษาที่หลากหลายมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังและเป็นจุดยอดนิยมของการเสี่ยงทายโอะมิคุจิที่มีแผ่นคำทำนายเป็นภาษาต่างๆ มีดังต่อไปนี้

  • วัดเซ็นโซจิ (Senso-ji Temple)กรุงโตเกียว (อังกฤษ)
  • วัดนาริตะซังชินโชจิ (Narita-san Shinsho-ji Temple) จังหวัดชิบะ (อังกฤษ จีน เกาหลี)
  • ศาลเจ้าทสึรุงะโอกะฮะจิมังงู (Tsurugaoka Hachiman-gu Shrine) จังหวัดคานางาวะ (อังกฤษ)
  • ศาลเจ้านิชิกิ เท็นมะกุ (Nishiki Tenmangu Shrine) จังหวัดเกียวโต (อังกฤษ)
  • ศาลเจ้าคูชิดะ (Kushida-jinja Shrine) จังหวัดฟุกุโอกะ (อังกฤษ จีนดั้งเดิม จีนประยุกต์ เกาหลี)

โอะมิคุจิกับคุกกี้เสี่ยงทาย

คุกกี้เสี่ยงทาย (Fortune Cookie) เป็นขนมหวานสัญชาติอเมริกัน มีต้นกำเนิดมาจากภัตตาคารจีนแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงศตวรรษที่ 20

แต่มีผู้คนกล่าวว่า คุกกี้เสี่ยงทายที่เห็นในปัจจุบันนั้นมีที่มาจากโอะมิคุจิ โดยคำกล่าวเหล่านั้นอ้างว่า ในช่วงศตวรรษที่ 19 วัดหลายแห่งในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดประเพณีเสี่ยงทายโชคชะตาตามแบบโอะมิคุจิ โดยดัดแปลงจากแท่งมิคุจิโบ มาใช้คุกกี้ในการเสี่ยงทายแทน ซึ่งคุกกี้ที่ว่ามีชื่อว่า สึจิระอุระเซ็มเบ เป็นขนมที่ทำจากแป้งและงา บวกส่วนผสมที่ทำให้มีรสชาติหอมมัน โดยจะยัดกระดาษคำทำนายชิ้นเล็กๆ ไว้ในที่ว่างด้านในของตัวคุกกี้ ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับคุกกี้เสี่ยงทายที่เห็นในปัจจุบัน ทำให้เป็นที่เชื่อได้ว่าขนมสึจิระอุระเซ็มเบคือต้นแบบของคุกกี้เสี่ยงทายอันโด่งดัง และปัจจุบันก็ยังคงมีวางขายอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น เช่นที่ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ ในเกียวโต และในเมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิกาวะ


 

แม้ในปัจจุบัน ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนเริ่มอ้างอิงชีวิตกับความเชื่อเรื่องโชคลางน้อยลงไปมาก แต่การมีอยู่ของโอะมิคุจิยังคงเป็นเสน่ห์ที่ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะนอกจากผู้เสี่ยงทายจะสนุกกับการได้เขย่ากล่องเซียมซี ยังได้ลุ้นว่าคำทำนายจะออกมาแบบไหน และหลายครั้งที่เราสามารถนำคำทำนายเหล่านั้นมาใช้เป็นเครื่องเตือนใจในการใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกับ “โอะมิคุจิ” มากขึ้น และถ้าเพื่อนๆคนไหนมีโอกาสได้ไปไหว้สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดหรือศาลเจ้าในญี่ปุ่น อย่าลืมแวะไปจับโอะมิคุจิเสี่ยงทายกันดูพอให้หนึบหนับหัวใจ

---------- END ----------


ขอบคุณข้อมูล:

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%88%E0%B8%B4

https://www.jnto.or.th/newsletter/omikuji/

https://mgronline.com/japan/detail/9590000084718

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A2

https://www.naritasan.or.jp/

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!