ที่กินในญี่ปุ่น

ไม่เข้าร้านเนื้อย่าง Yakiniku หรือร้านชาบูชาบู ถือว่าไม่มาถึงญี่ปุ่น!

yakiniku

วันนี้ขอเอาใจสายกินกันหน่อย ใครก็ตามที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว...ไม่เข้าร้านเนื้อย่าง Yakiniku หรือร้านชาบูชาบู ถือว่าไม่มาถึงญี่ปุ่น! 

จะเลือกทานแบบย่างหรือแบบจุ่มในซุปร้อน ก็ได้ความอร่อยในแบบที่แตกต่างกัน ทั้ง 2 ประเภทอาหารนี้ยังคงยืนตำแหน่งอาหารยอดนิยม สำหรับทั้งคนญี่ปุ่นเองและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้แต่ทัวร์ไทยก็จะต้องจองพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อให้ลูกทัวร์ได้ชิมอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในโปรแกรมกันเลยทีเดียว 

ถึงแม้จะไม่มีน้ำจิ้มเผ็ดเหมือน MK หรือหมูกะทะบ้านเรา แต่ก็จะได้ลิ้มสูตรคุณภาพของประเทศญี่ปุ่นและน้ำซุปที่มีรสชาติอร่อยหวาน Original ของทางร้านนั้นๆ ให้สายนักชิมได้ฟินกันอย่างเต็มที่

แต่ทว่า Yakiniku และชาบูชาบู มีการทานที่แตกต่างกัน รวมถึงวัตถุดิบที่นิยมใช้ก็ไม่เหมือนกัน วันนี้เรามาดูกันว่า 2 อย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร? และเราสามารถเพลิดเพลินไปกับรสชาติอาหารให้ได้ดีที่สุดอย่างไรกันบ้าง?

ย่าง vs จิ่มจุ่ม

หลักๆของความแตกต่างระหว่าง 2 ประเภทอาหารนี้คือวิธีการปรุง Yakiniku แปลจากภาษาญี่ปุ่นได้ว่า “เนื้อย่าง” หลักการง่ายๆคือ คล้ายกับหมูกระทะบ้านเรา ใช้ถ่านไม้ในการให้ความร้อนและใช้ตะแกรงในการปรุงให้สุก ถ่านไม้ของญี่ปุ่นก็มีหลายประเภท แล้วแต่คุณภาพในการให้ความร้อน ร้านเนื้อย่างดีๆก็จะใช้ตัวถ่านที่มีคุณภาพสูงซึ่งให้ความร้อนคงที่ ทำให้ตัวเนื้อนั้นมีความสุขที่ดี บางที่ใช้ถ่านที่มีคุณสมบัติพิเศษในการเก็บความร้อนได้นาน ซึ่งจะต่างจากถ่านไม้ที่ใช้ในประเทศไทยในการย่างต่างๆ ซึ่งให้ความร้อนไม่คงที่และหมดไฟเร็ว 

Photos by : https://www.flickr.com/photos/kenleewrites/3974222725

ส่วนชาบูชาบูก็มีอีก 2 แบบ คือการใช้ Gas และการใช้เตาไฟฟ้า  หม้อชาบูตามร้านใหญ่ๆที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนมากจะเป็นแบบ 2 หลุม ให้ลูกค้าได้มี Choice เลือกว่าจะเอาซุปประเภทไหน  บางที่ให้มากถึง 3 หลุมเลย แต่ร้านที่เป็นแนวสไตล์ญี่ปุ่นโบราณส่วนใหญ่ใช้แก๊สและเป็นหม้อไฟแบบหินหรือเซรามิค ซึ่งจะมีให้เลือกรสชาติของซุปได้ประเภทเดียวเท่านั้น

ทำให้การกินชาบูได้มีตัวเลือกของรสชาติจากน้ำซุปที่ชอบมากกว่าการกินเนื้อย่างที่มีแค่เตาให้ย่างเนื้อได้อย่างเดียว 

Photos by : https://www.skylark.co.jp/syabuyo/syabusyabu/index.html

เนื้อวัว vs เนื้อหมู

เนื้อที่นิยมนำมาใช้ในการย่าง Yakiniku ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะเน้นเป็นเนื้อวัวครับ ไม่ค่อยมีชาวญี่ปุ่นคนไหน มาร้านเนื้อย่างแล้วถามหาเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ซึ่งจะมีในเมนูจริง แต่มีตัวเลือกให้น้อย จุดขายของร้าน Yakiniku แต่ละแห่งอยู่ที่คุณภาพและชนิดของเนื้อวัวที่ร้านนั้นนำมาใช้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเนื้อวากิวในประเทศ ซึ่งมีมากกว่าหลายร้อยชนิด ประเภทเนื้อที่นิยมรับประทานในการย่างก็จะเป็นเนื้อส่วนท้อง ส่วนหลังบางส่วนและส่วนลิ้นของวัว หลายที่ก็มีเมนูเครื่องในให้เป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้าที่สามารถทานได้ด้วย 

Photos by : https://www.bangmeshi.com/shop/kirabi-soi23/

ในทางกลับกันเนื้อที่นิยมนำมาใช้ในการทำชาบูชาบูก็จะเป็นเนื้อหมู โดยเฉพาะส่วนหน้าท้องที่มีมันติดเล็กน้อยและบาง เนื่องจากเวลาจุ๋มไปในน้ำซุปร้อนแล้ว สามารถสุกได้เร็วและรับประทานได้เลย คำว่า “ชาบูชาบู” ที่แท้จริงคือ การนำเนื้อหมูจุ่มลงไปในน้ำซุปร้อน แล้วลวกเบาๆแกว่งซ้ายขวา พอได้ที่แล้วก็นำขึ้นมาจิ้มกับน้ำจิ้มและรับประทาน ซึ่งตัวเนื้อหมูเองที่มีขายในร้านทั่วไปก็มีทั้งของประเทศญี่ปุ่นเอง หรือแบบนำเข้า เนื้อที่มีชื่อดังๆก็จะเป็นหมูคุโรบุตะจากเกาะใต้คิวชู นอกเหนือจากเนื้อหมูแล้วก็จะมีเนื้อวัวเป็น Option ให้เลือก แต่ส่วนใหญ่ที่คนไทยจะเซอร์ไพรส์กันก็คือ ไม่มีตัวเลือกของซีฟู้ด สำหรับอาหารประเภทชาบูชาบูที่ประเทศญี่ปุ่นนะครับ  

Photos by : https://www.flickr.com/photos/jaggyboss/8727481787

ผักแข็ง vs ผักอ่อน

Photos by : https://sanzenri.com/menu/kaisen.html

จากการปรุงอาหารที่แตกต่างกันระหว่างการย่างให้สุขกับการต้มให้สุก ทำให้ชนิดของผักที่เสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงของเมนูทั้ง 2 นั้นแตกต่างกันไป ในร้าน Yakiniku ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ผักประเภทใบแข็ง เหมาะสำหรับการย่างให้สุกได้ ตัวอย่างเช่น ผักกะหล่ำขาว แครอท หัวหอมใหญ่ ข้าวโพดอ่อน เห็ด เป็นต้น 

Photos by : https://pixabay.com/ja/photos/しゃぶしゃぶ-hotpot-調理-5666991/

ในทางกลับกัน ร้านชาบูชาบูจะมีตัวเลือกของผักมากกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผักใบอ่อน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดขาว ผักบุ้ง เห็ดเข็มทอง ผักโขม ผักน้ำญี่ปุ่นหรือที่รู้จักกันว่ามิทซูบะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมทานคู่กับเต้าหู้อีกด้วย ซึ่งสามารถใส่ลงไปในน้ำซุปให้มีความหวานของผักมากขึ้น แล้วรับประทานกับเนื้อหมูชาบูชาบูได้อย่างอร่อยเลย

น้ำจิ้มย่าง vs น้ำจิ้มจุ่ม

มาพูดถึงเรื่องน้ำจิ้มหรือซอสที่ใช้ทานรวมกับเนื้อย่างและชาบู ทั้งสองมีการใช้ตัวซอสที่แตกต่างกัน  น้ำจิ้มสำหรับเนื้อย่างหรือ Yakiniku จะแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆคือ น้ำจิ้มเบสมิโซะ น้ำจิ้มเบสโชยุ และสุดท้ายคือน้ำจิ้มเบสเกลือซึ่งเป็นแบบที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ชอบ บางคนก็ทานเนื้อย่างกับเกลือเปล่าๆเลยก็มี นอกจากนี้ยังมีระดับความเผ็ด 3 ระดับ เริ่มต้นที่ รสหวาน ซึ่งน้ำจิ้มสูตรนี้จะมีการผสมน้ำผึ้งหรือแอปเปิ้ลลงไปด้วย เหมาะสำหรับเด็กรับประทาน ต่อมา คือเผ็ดกลางซึ่งจะมีความเผ็ดเล็กน้อย สุดท้ายคือรสชาติเผ็ด แต่ก็จะไม่ใช่เผ็ดจากพริก ส่วนผสมที่ใช้คือ โคจูจัง หรือซอสพริกของเกาหลีนั้นเอง อย่างไรก็ตาม แต่ละร้านอาจจะใช้ซอสสูตรพิเศษของเขาก็ได้

Photos by : http://bansankan.jp/top/

ส่วนน้ำจิ้มที่ทานร่วมกับชาบูก็จะแตกต่างกับน้ำจิ้มที่ใช้ในเนื้อย่างอย่างสิ้นเชิง แบ่งเป็น 3 สูตรเช่นกันคือ น้ำจิ้มเบสงาขาว ซึ่งจะให้รสชาติมันและหวานเล็กน้อย ต่อมาคือเบส ponzu ผสมกับหัวไชเท้าบดละเอียด สูตรตัวนี้จะเน้นรสชาติเปรี้ยว ตัวสุดท้ายคือน้ำจิ้มเบสเกลือและต้นหอม ซึ่งจะให้รสชาติเค็ม ชาวญี่ปุ่นที่ทานเผ็ดไม่ได้หรือชอบรสชาติอ่อนๆก็จะนิยมจิ้มกับซอสเบสงาขาว ใครที่ชอบรสชาติเข้มข้นก็จะเลือก ponzu หรือเบสเกลือกัน ซึ่งรสชาติของแต่ละสูตรแตกต่างกัน ไม่เหมือนน้ำจิ้มซีฟู้ดหรือน้ำจิ้มสุกี้บ้านเราเลย 

Photos by : https://www.moranbong.co.jp/news/detail/id=3899

ร้านชาบูหรือร้าน Yakiniku ในประเทศไทย ก็จะมีกระเทียมมะนาวและพริกสดเคียงข้างให้เข้ากับรสชาติที่คนไทยเคยชิน แต่ถ้าไปญี่ปุ่นแล้ว ของเหล่านี้อาจจะไม่มีไว้ให้ก็ได้ นักท่องเที่ยวหลายคนที่ไปทานเนื้อย่างหรือชาบูที่ญี่ปุ่นก็จะซื้อพริกสดมาใส่เพิ่มกันเอง 

 

อะไรดีต่อสุขภาพกว่า?

ไม่ว่าจะเป็น Yakiniku หรือชาบูชาบู วัตถุดิบหลักก็จะเป็นเนื้อซึ่งจะให้คุณค่าทางโภชนาการสูงในด้านโปรตีน แต่ด้วยที่โปรตีนในเนื้อวัวนั้นมีมากกว่ากว่าโปรตีนในเนื้อหมู ก็อาจจะเข้าใจได้ว่าการทานเนื้อย่างนั้น ดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่อย่าลืมว่าในเนื้อก็มีน้ำมันอยู่ด้วย ถ้าคุณเป็นคนรักสุขภาพและอยากจะทานเนื้อย่างแนะนำให้เลือกเนื้อแดงที่ไม่ติดมันและย่างให้สุก ทานพร้อมกับสลัดผัก 1 จาน สั่งพร้อมมะเขือเทศย่างและหอมใหญ่ย่าง คุณก็จะได้อาหารอร่อยและดีต่อสุขภาพแล้วครับ

ส่วนทางด้านชาบูชาบู เนื่องจากเนื้อที่ใช้เป็นหลัก คือเนื้อหมูติดมัน ผมแนะนำให้เลือกเนื้อหมูสไลด์ที่ไม่มีมัน หรือสั่งเป็นเนื้อวัวแทนก็ได้ เนื่องจากเป็นการลวกสุกอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำมันกวนใจคนรักสุขภาพทุกคน อีกอย่าง ชาบูชาบูจะเน้นการทานผักและเต้าหู้ไปด้วย เหมาะสมเป็นอย่างดีสำหรับสายสุขภาพที่ชอบทานผักเป็นหลัก 

Photos by : https://www.flickr.com/photos/bryansjs/14006689001

ราคา

การไปทานยากินิกุหรือชาบูชาบูส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ทานไม่อั้น หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “tabehoudai” จะมีราคาตั้งแต่ 1000 เยนไปจนถึงมากกว่า 5000 เยน แล้วแต่เนื้อหาของรายการอาหาร 

ร้านเนื้อย่าง Yakiniku โดยทั่วไปเราสามารถสั่งเป็นเซตมาได้ หรือจะเลือกเป็นแบบทานไม่อั้น บุฟเฟ่ต์เป็นรายชั่วโมงก็ได้ ราคาก็จะอยู่ที่ 1,000 เยนเป็นต้นไป ถ้าเลือกเนื้อวัวพิเศษดังๆ ก็จะมีราคาที่สูงขึ้นตั้งแต่ 3,000 เยนเป็นต้นไป ทั้งนี้ อาจจะรวม หรือไม่รวมเครื่องดื่ม ก็แล้วแต่ทางร้านอาหาร 

ร้านชาบูชาบูก็เหมือนกัน ราคาก็จะคล้ายๆกับร้านเนื้อย่าง ความแตกต่างกันอยู่ที่ตัวเลือกของเนื้อหมู หรือบางทีก็มีเนื้อวัว หรือเนื้อสัตว์อื่นๆเพิ่มเติมให้ด้วยสำหรับคอร์สที่มีราคาสูงกว่า แต่ร้านชาบูส่วนใหญ่จะไม่ขายเป็นจานเดี่ยว นักท่องเที่ยวต้องจ่ายเป็นคอร์สบุฟเฟ่ต์เท่านั้น แต่เราสามารถเลือกราคาได้เอง น้ำซุปก็มีให้เลือกหลายชนิด ถ้าอยากรับเครื่องดื่มแบบรีฟิลได้ด้วย ก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายจากราคาบุฟเฟ่ต์ขึ้นไป 

Photos by : https://www.flickr.com/photos/yto/17320477445

นักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากกินอย่างประหยัดและอิ่ม แนะนำให้ไปกินร้านพวกนี้ในมื้อกลางวัน เพราะหลายแห่งจะทำชุดพิเศษในราคา 1,000 กว่าเยนเท่านั้น สำหรับการกินบุฟเฟ่ต์ 90 นาที อาจจะไม่มีประเภทเนื้อของดีมากนัก แต่ด้วยคุณภาพของร้านอาหารที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะได้ของไม่ดีอย่างแน่นอน 


เท่านี้ ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจความแตกต่างระหว่างการไปกิน Yakiniku เนื้อย่าง เปรียบเทียบกับการไปกินชาบูชาบูหรือจิ้มจุ่มญี่ปุ่นกันอย่างดีแล้ว ใครที่ชอบทานรสชาติเข้มข้น สายติดเผ็ด แนะนำให้นำพริกมาด้วยและไปกิน Yakiniku จะดีกว่า ส่วนสายสุขภาพที่ชอบทานผักเยอะๆ แนะนำให้ไปกินชาบูชาบูละกันครับ 

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Ammer
สวัสดีครับ ผมแอมเมอร์ ครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Nanzan University ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่นกว่า 7 ปี อดีต เป็นพนักงานต้อนรับบนเรื่องบินและบินเส้นทางญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ ประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัจจุบันทำงานเป็นให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง นอกเหนือจากงานเขียนบน OhHoTrip ยังมีผบงานเขียนหนังสือออนไลน์ เรียน"ญี่ปุ่น" ยังไงให้รอด และช่อง Youtube เกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถ้าชอบ Blog ที่ผมเขียน ช่วยกด LIKE กดแชร์ด้วยนะครับ :) https://www.youtube.com/c/Ammerkongtangjitt-japan
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!