การเดินทางในญี่ปุ่น

9 ข้อ รู้ก่อนได้เปรียบ ก่อนขึ้นรถไฟในญี่ปุ่น

ภูมิภาค
หัวข้อที่เกี่ยว
|
OhhoTrip_Train_Cover-01

การเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นนั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมปราบเซียนของนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ ต่อให้เดินทางไปญี่ปุ่นมาแล้วกี่ครั้ง คุณจะได้พบประสบการณ์การหลง ตกรถไฟ ขึ้นผิดขบวน ลงผิดสถานี ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแน่นอน เพราะฉะนั้น 9 ข้อที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้สามารถเตรียมตัวเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่นมากขึ้นไม่มากก็น้อยค่ะ

Contents
  1. 1. ตรงเวลา
  2. 2. จะใหญ่ไปไหน
  3. 3. ร้านรวงล่อตาล่อใจ
  4. 4. ตั๋ว
  5. 5. ไม่มีบันไดเลื่อน
  6. 6. เสียงนก
  7. 7. ไม่แซงคิว
  8. 8. ไม่ส่งเสียง
  9. 9. การเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน

1. ตรงเวลา

ความตรงเวลาของรถไฟอาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับประเทศอื่น ๆ เพราะในประเทศที่มีระบบรถไฟให้บริการส่วนมากแล้วจะตรงเวลา มีการแสดงเวลาและขบวนที่กำลังจะมาถึงทุกขบวน ทุกชานชาลา ทุกสถานี ซึ่งก็แปลกที่ทำไมในเมืองไทยถึงยังไม่สามารถมีสิ่งนี้ได้เสียที แต่เอาเป็นว่า ถ้าหากต้องใช้บริการสถานีรถไฟในสถานีที่ไม่คุ้นเคย ก็ควรเผื่อเวลาไว้ซักครึ่งชั่วโมงค่ะ เพราะยังมีเรื่องราวเซอร์ไพรส์รออยู่อีก 8 ข้อ อิอิ

2. จะใหญ่ไปไหน

การเดินเปลี่ยนขบวนรถไฟที่ญี่ปุ่นในบางสถานีก็ไม่ได้ง่ายเหมือนกับเปลี่ยนจากสถานีสุขุมวิทไปสถานีอโศก เพราะถ้าหากต้องไปเปลี่ยนขบวนที่สถานีใหญ่ ๆ อย่างโตเกียวหรือชินจูกุ ก็ต้องเป็นงงเอาได้เพราะมันใหญ่มากกกก และยิ่งสถานีมีพื้นที่ใหญ่เท่าไหร่ นั่นหมายถึงปริมาณคนก็จะมากตามไปด้วย บางครั้งอาจต้องใช้เวลาเดินเกือบสิบนาทีกว่าจะถึงอีกชานชาลาหรือประตูทางออก หรือถ้ามองป้ายผิด เดินไปผิดทิศก็อาจทำให้ต้องเดินย้อนจนจั๊กเปียกได้เลย การเตรียมตัวสำหรับข้อนี้คือ เผื่อเวลาเดิน (หลง) ไว้ประมาณ 10-15 นาที สวมรองเท้าที่เดินสบาย และมองป้ายดี ๆ ค่ะ

3. ร้านรวงล่อตาล่อใจ

นอกจากความใหญ่ของสถานีที่ทำให้เราหอบแฮ่กแล้ว ระหว่างทางที่เราเดินผ่านภายในสถานีเองก็ยังมีร้านขายของนานาชนิด ทั้งร้านขนม ร้านอาหารที่ส่งกลิ่นหอมมายั่วยวล ร้านเสื้อผ้า ของใช้เก๋ ๆ หรือร้านของเล่นการ์ตูนต่าง ๆ ที่จะมาทำให้เราต้องหยุดแวะดู แวะซื้อในเวลาเร่งรีบ อย่างเราจะแพ้ของต่าง ๆ ที่เป็นโตโตโร่มาก ๆ ถ้ารู้ว่าจะต้องผ่านสถานีโตเกียวละก็ ต้องมีการเผื่อเวลาไว้เลยอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง แม้จะไม่ได้ซื้อแต่ก็ขอเข้าไปเยี่ยมชมในร้านให้สบายใจก็ยังดีค่ะ : )

4. ตั๋ว

ในเมื่อญี่ปุ่นนั้นมีชื่อเรื่องการเดินทางด้วยรถไฟแล้ว มีหรือที่เค้าจะมีรถไฟเพียงแบบเดียวให้บริการ เมื่อมีรถไฟหลายรูปแบบ การซื้อตั๋วก็ย่อมแตกต่างด้วยเช่นกัน ถ้าหากเดินทางไม่ไกลมากเราก็สามารถซื้อตั๋วได้ที่หน้าตู้ด้วยเงินสดได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าใช้บัตรเติมเงิน IC Card ก็สบายหน่อย แต่ถ้าหากต้องเดินทางออกต่างเมืองด้วย JR ก็ต้องมีการจองที่นั่งล่วงหน้าทางออนไลน์หรือซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์ในวันเดินทาง ซึ่งถึงแม้จะจองตั๋วทางเว็บแล้วก็ตาม เราก็จะได้เป็น voucher เพื่อไปแลกตั๋วจริงที่เคาน์เตอร์อีกทีอยู่ดี ดังนั้นจึงขอย้ำอีกครั้งในการเผื่อเวลาหาเคาน์เตอร์และแลกตั๋วเพิ่มอีก 10-15 นาทีค่ะ

5. ไม่มีบันไดเลื่อน

ใช่ค่ะ ถ้าหากเป็นวันสบาย ๆ เดินทางชิล ๆ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มาก แต่ถ้าวันไหนต้องลากกระเป๋าเดินทางไปด้วยละก็ เตรียมใจไว้ได้เลยค่ะ มันจะทุลักทุเลพอสมควรเลย คำแนะนำสำหรับข้อนี้คือ แพคของไปเท่าที่จำเป็น และเลือกใช้บริการฝากของที่เคาน์เตอร์ในสถานีหรือล็อกเกอร์หยอดเหรียญหากต้องเดินทางเปลี่ยนหลายเมือง [อ่านเพิ่มเติม]

6. เสียงนก

ในช่วงเวลาเร่งรีบของการเดินทาง หลายคนอาจไม่ได้สังเกตว่าภายในชานชาลาจะมีเสียงนกร้องจิ๊บ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งตอนแรกที่ได้ยินก็คิดว่าเป็นนกจริง ๆ บินหลงเข้ามาในชานชาลา จนเราเริ่มสังเกตเองว่าทำไมได้ยินเสียงนกทุกสถานี จึงได้ลองถามเพื่อนเล่น ๆ ว่าเสียงนกนี้เค้าเปิดเพื่อสร้างบรรยากาศรึเปล่า แต่คำตอบคือไม่ใช่เลย เสียงนกที่ได้ยินนั้นเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้พิการทางสายตา ในจุดที่เป็นบันไดเลื่อน บันไดธรรมดา และทางออกต่างหาก บางสถานีก็จะใช้เสียงนกที่ต่างกันระหว่างทางขึ้นกับทางลงด้วยค่ะ

7. ไม่แซงคิว

ข้อนี้เป็นวัฒนธรรมที่คนไทยเพิ่งจะเอามาปรับใช้ได้ในประเทศเราเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะเวลาต่อแถวขึ้นรถไฟ สำหรับคนญี่ปุ่นนั้น ถ้าหากว่าคนที่จะลงจากรถไฟยังออกมาไม่หมด คนที่กำลังรอจะขึ้นก็ยังจะไม่เดินแทรกเข้าไปเด็ดขาด ดังนั้นคนที่ต่อคิวหน้าสุดก็จะต้องคอยสังเกตว่ายังมีคนข้างในกำลังเดินออกมาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีแล้ว หัวแถวก็จะเดินนำเข้าไปในขบวนทันทีค่ะ

8. ไม่ส่งเสียง

ทุกอย่างที่ทำให้เกิดเสียงล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อขึ้นโดยสารรถไฟในญี่ปุ่นค่ะ เสียงโทรศัพท์ เสียงพูดคุยหัวเราะต่าง ๆ ควรงดเว้น และควรตั้งใจฟังเสียงประกาศและป้ายบอกสถานีจะดีที่สุดค่ะ เพราะรถไฟในญี่ปุ่นนั้นบางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางกะทันหัน และมักจะประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเราต้องคอยสังเกตว่าเรากำลังเดินทางอยู่ในเส้นทางเป็นระยะ ๆ

9. การเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน

ข้อสุดท้ายนี้เจอมากับตัว และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้กับรถไฟในญี่ปุ่น คือการเปลี่ยนเส้นทางเดินรถกะทันหัน แต่ข้อมูลกลับไม่อัปเดตบน Google Maps ในเวลานั้นจากเส้นทางเดิมคือนั่งยาวโดยไม่เปลี่ยนสถานีกลางทาง แต่รถไฟดันจอดที่สถานีหนึ่งระหว่างทางและวิ่งกลับไปทางเดิม เราก็เลยลังเลว่าใครผิด เราดูผิด หรือยังไง แต่ในแมพก็ยังบอกให้นั่งยาวอยู่ ปรากฏว่าในระหว่างที่จอด ณ สถานีนั้นเค้าได้มีประกาศแล้วว่าจะไม่วิ่งต่อ แต่มันเป็นภาษาญี่ปุ่น คนที่ฟังรู้เรื่องก็พากันเดินออกจากขบวนรถเกือบหมด ดังนั้น ก็อยากจะแนะนำว่าอย่าไว้ใจเทคโนโลยีซะทีเดียว ต้องหมั่นสังเกตคนท้องถิ่น เสียงประกาศ และป้ายต่าง ๆ ไว้เสมอค่ะ

ถึงแม้จะมีข้อปฏิบัติเยอะแยะมากมาย แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะถึงเราจะเตรียมตัวไปดีแล้วก็ตาม แต่ก็อาจจะเจอกับอุปสรรคที่ไม่คาดคิดก็ได้ และเมื่อถึงเวลานั้น คนญี่ปุ่นก็พร้อมจะช่วยคุณเสมอค่ะ  : )

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Amornsri Anutrakulchai
เป็นคนที่รักการเที่ยวคนเดียวมาก ๆ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนลองเดินทางด้วยตัวเอง แต่แปลกมาก ๆ ที่เราไม่เคยเดินทางในญี่ปุ่นคนเดียวเลย อาจเป็นเพราะเป็นประเทศที่ทุกคนมีความผูกพัน ใฝ่ฝันและเอื้อมถึงได้ ก็เลยมักจะมีเพื่อนร่วมทางด้วยเสมอ สิ่งที่เราสนใจในญี่ปุ่นมากที่สุดคืองานออกแบบในทุก ๆ มิติ ทั้งสถาปัตยกรรม ของใช้ อาหาร แฟชั่น การ์ตูน ชอบในความละเอียดกับที่มาที่ไปของทุก ๆ สิ่งรอบตัวค่ะ
RELATED POST

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!