ที่พักในญี่ปุ่น

6 ข้อควรรู้ ก่อนเข้าพักในเรียวกัง

OhhoTrip_Ryokan_Cover-01

หากได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น การได้เข้าพักในเรียวกังถือเป็นประสบการณ์ที่ควรได้รับสักครั้ง แต่คนทั่วไปมองว่าการนอนเรียวกังนั้นมีราคาแพงและอาจจะไม่สบายเท่านอนโรงแรมเพราะเป็นการนอนบนเสื่อตาตามิ หรือการต้องอาบน้ำในห้องรวมแบบออนเซ็นก็รู้สึกไม่สบายใจ และอีกหลากหลายความเห็นที่มีต่อการนอนเรียวกัง บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเรียวกังกันแบบเน้น ๆ และอาจเปลี่ยนใจอยากไปลองซักครั้งก็ได้นะคะ ; )

1. จะนอนเรียวกัง ต้องไปนอกเมือง

เพราะเรียวกังนั้นคือที่พักแรมระหว่างเดินทางไกล ต้นกำเนิดของเรียวกังนั้นมีขึ้นในยุคนารา ในยุคนั้นการเดินทางไกลเป็นเรื่องยากมากเนื่องจากยานพาหนะหรือถนนหนทางยังไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างทุกวันนี้ เหล่านักเดินทางทั้งหลายต้องพักค้างคืนตามที่กำบังตามธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นเหตุให้นักเดินทางส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิตในระหว่างเดินทางจากการขาดอาหาร Fuseya จึงเป็นเรียวกังรูปแบบแรกที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นที่พักริมทางจากนำ้พักน้ำแรงของเหล่าพระสงฆ์ที่ไม่สามารถทนเห็นการล้มตายของผู้คนได้ จากจุดเริ่มต้นนี้ทำให้หลังจากนั้นก็มีการสร้างที่พักขึ้นอีกหลายแห่งตามถนนสายหลักต่าง ๆ (หรือในยุคปัจจุบันจะมีการสร้างเรียวกังใกล้กับสถานีรถไฟ) เพื่อเป็นที่พักแรมเพียงอย่างเดียวให้กับนักเดินทาง นักแสวงบุญ และชนชั้นสูง เรื่อยมาจนถึงยุคเอโดะซึ่งเริ่มมีการพัฒนาการคมนาคมและระบบขนส่งมากขึ้น แขกที่เข้าพักก็จะเป็นกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายเพิ่มเข้ามา ในยุคเอโดะนี้ได้เกิดเรียวกัง 2 รูปแบบหลัก ๆ แบบแรกคือ Hatago เป็นรูปแบบที่ที่พักจะมีการบริการอาหารให้กับผู้เข้าพัก และแบบที่สองคือ Honjin ซึ่งเป็นที่พักแรมสำหรับไดเมียวเท่านั้น จึงเดาได้เลยว่าจะต้องมีความหรูหราและมีการบริการที่พิเศษมากกว่าแบบแรกแน่นอน แต่ในปัจจุบัน เรียวกังทั้งสองแบบไม่ได้มีให้บริการแล้ว เหลือเพียงแต่แนวคิดและวิธีปฏิบัติที่นำข้อดีของทั้งสองรูปแบบในอดีตมาเป็นมาตรฐานในการให้บริการในเรียวกังในปัจจุบันนั่นเอง

2. เรียวกังไม่ได้แพงเสมอไป

องค์ประกอบสำคัญของเรียวกังนั้นมีอยู่ 3 อย่างคือ เป็นที่พักที่มีโครงสร้างและการตกแต่งแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ภายในห้องพักจะใช้ฟูกญี่ปุ่นปูนอนบนเสื่อตาตามิ และสุดท้ายคือการให้บริการตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งค่าที่พักแบบเรียวกังที่มีราคาสูงนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่พิเศษเพิ่มขึ้น หากเรียวกังนั้นตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีวิวดี ๆ มีบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติให้แช่ มีพื้นที่สวนญี่ปุ่นให้เดินเล่น มีอาหารบริการทั้งมื้อเย็นและมื้อเช้า เป็นต้น เหล่านี้เป็นส่วนเพิ่มเติมที่ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีราคาสูง แต่บางเรียวกังก็ตั้งอยู่ในเมืองตามต่างจังหวัดใกล้กับสถานีรถไฟ มีลักษณะคล้ายตึกแถวที่มีโครงสร้างแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ไม่มีบ่อออนเซ็นให้แช่แต่เป็นห้องน้ำส่วนกลางที่มีห้องอาบน้ำเดี่ยว (หลายคนแอบสบายใจในจุดนี้) ไม่มีอาหารให้บริการ และอาจจะมีแค่สวนญี่ปุ่นเล็ก ๆ ด้านใน แบบนี้ราคาที่พักจะถูกกว่ามากทีเดียว

3. เช็คอิน เช็คเอาต์

เวลาในการเช็คอินและเช็คเอาต์เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงทุกครั้ง เนื่องจากเรียวกังนั้นไม่ใช่โรงแรมที่จะมีพนักงานคอยต้อนรับผู้เข้าพักตลอด 24 ชม. ดังนั้นควรเช็คเวลาให้ดีค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วเวลาเช็คอินจะเป็นหลังบ่ายสามแต่ไม่เกินสี่ทุ่ม และเช็คเอาต์ไม่เกิน 10.00 . จากประสบการณ์ตรงของเราเอง ในวันที่เช็คอิน เราได้จองห้องพักพร้อมอาหารมื้อเย็นและมื้อเช้าไว้ แต่เพราะว่าหลงทางก็เลยไปถึงช้ากว่าสี่ทุ่ม ทำให้อาหารเย็นของเราถูกงดไป และได้ข้าวปั้นไส้บ๊วยมาทานแก้หิวแทน ฮ่า ๆ

4. เปลี่ยนรองเท้าและเปลี่ยนชุด

เมื่อเดินทางมาถึงเรียวกัง สิ่งแรกที่ต้องบอกลาก็คือรองเท้าที่ใส่มานั่นเอง โดยที่บริเวณประตูทางเข้าจะมีตู้รองเท้าสำหรับเก็บรองเท้าของเรา หลังจากนั้นเราจะเดินด้วยเท้าเปล่าภายในเรียวกัง ไม่ควรวิ่งเล่นหรือเดินเสียงดัง เพราะตัวอาคารใช้ไม้เป็นโครงสร้างหลัก ภายในห้องพักจะมีชุดยูคาตะเตรียมไว้ให้เปลี่ยน เพื่อใช้ชีวิตอยู่ภายในห้อง แต่ถ้าต้องการออกมาทานอาหารเช้าที่ห้องทานอาหารส่วนกลางหรือเดินเล่นในสวน ก็ควรใส่เสื้อคลุมที่ถูกเตรียมไว้ให้อีกชั้นนึง และสวมรองเท้าไม้

5. อย่าตกใจที่เข้าห้องไปแล้วไม่เจอเตียง/ที่นอน

จะเรียกห้องพักแบบเรียวกังว่าเป็นห้องพักแบบ multi-function ก็ได้ ไม่ผิดค่ะ เพราะเมื่อเราเลื่อนประตูเปิดเข้าไปก็จะพบกับห้องที่ปูด้วยเสื่อตาตามิ ที่กลางห้องจะมีการจัดโต๊ะเตี้ย ๆ และที่นั่งแบบมีพนักพิง ด้านนึงของห้องจะมีเวิ้งที่เป็นส่วนของการตกแต่งตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นประกอบด้วยภาพเขียนแขวนที่ผนังและแจกันดอกไม้ ฟังก์ชั่นการจัดห้องแบบนี้จะใช้ในการทานอาหารมื้อเย็นหรือนั่งเล่นในยามบ่าย และเมื่อถึงเวลาหัวค่ำ จะมีคนดูแลเข้ามาเอาฟูกและเครื่องนอนที่เก็บอยู่ในตู้ภายในห้องออกมาจัดให้เราค่ะ ตามประสบการณ์ที่เราเคยนอนทั้งเรียวกังแบบแพงและแบบประหยัด ทั้งสองแบบให้ความสบายเหมือนกันเลยค่ะ และเราชอบมากกกก เพราะฟูกที่ใช้นอนและผ้าห่มนั้นนุ่มสบายมาก ๆ ชอบมากกว่าการนอนในโรงแรมอีกค่ะ

6. มารยาทการใช้ห้องน้ำรวม

หากคิดจะเข้าพักในเรียวกังแล้ว ต้องเตรียมตัวและเตรียมใจเลยว่าต้องใช้ห้องน้ำส่วนกลางร่วมกับแขกคนอื่น ๆ แน่นอน เพราะอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของการนอนเรียวกังก็คือการแช่ออนเซ็น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือควรพึงระลึกไว้เสมอว่าการแช่ออนเซ็นไม่ใช่การอาบน้ำ แต่เป็นการแช่เพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้า ดังนั้นเราจึงต้องทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดก่อน ด้วยการนั่งอาบที่ม้านั่งที่ถูกเตรียมไว้ให้ ห้ามยืนอาบเด็ดขาด และหลังจากนั้นก็ลงแช่น้ำด้วยตัวเปล่าเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวส่วนมากกังวล แต่เราก็คอยเจออยู่ที่นึงที่ค่อนข้างถูกจริตคนขี้อาย เรียวกังแห่งนี้จะมีห้องอาบน้ำส่วนกลางเพียงห้องเดียวและเข้าใช้ได้ทีละคน ภายในจะมีม้านั่ง ฝักบัว และสบู่จัดไว้ที่มุมนึงของห้อง ส่วนตรงกลางจะมีอ่างน้ำร้อนที่เปิดไหลเวียนตลอด เมื่อใช้เสร็จก็จะมีคนมาคอยทำความสะอาด ข้อดีคือได้ความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องเปลือยกายต่อหน้าใคร แต่ข้อเสียก็คือไม่สามารถนอนแช่นาน ๆ ได้ค่ะ

เห็นมั้ยคะว่า เรียวกัง นั้นมีตัวเลือกที่หลากหลายกว่าที่คิด ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสซักครั้งในการเดินทางไปญี่ปุ่น แม้จะมีวิถีบางอย่างที่ไม่คุ้นเคยแต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะเคารพและปฏิบัติตามได้ค่ะ : )


Credit

http://www.ryokan.or.jp/english/

ข้อมูลในหน้านี้อาจมีข้อมูลในวันที่เผยแพร่ แม้ว่าเราจะพยายามอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่โปรดทราบว่าข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้รับการอัปเดต
ABOUT ME
Amornsri Anutrakulchai
เป็นคนที่รักการเที่ยวคนเดียวมาก ๆ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนลองเดินทางด้วยตัวเอง แต่แปลกมาก ๆ ที่เราไม่เคยเดินทางในญี่ปุ่นคนเดียวเลย อาจเป็นเพราะเป็นประเทศที่ทุกคนมีความผูกพัน ใฝ่ฝันและเอื้อมถึงได้ ก็เลยมักจะมีเพื่อนร่วมทางด้วยเสมอ สิ่งที่เราสนใจในญี่ปุ่นมากที่สุดคืองานออกแบบในทุก ๆ มิติ ทั้งสถาปัตยกรรม ของใช้ อาหาร แฟชั่น การ์ตูน ชอบในความละเอียดกับที่มาที่ไปของทุก ๆ สิ่งรอบตัวค่ะ
RELATED POST
ที่พักในญี่ปุ่น

เปิดประสบการณ์พักโรงแรมแบบใหม่ สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้วิถีพุทธศาสนาของญี่ปุ่นที่ Waqoo Shitaderamachi

02/02/2023
คำแนะนำสไตล์การท่องเที่ยวญี่ปุ่น 100 แบบ

ถ้าคุณชอบบทความนี้
กด "ถูกใจ" ด้วย!

กด “ถูกใจ” และรับข้อมูลล่าสุด!